อนุสัญญาปี ค.ศ.1951 ว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย

คำถามที่ถูกถามอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยปี ค.ศ.1951 และพิธีสาร ปี ค.ศ.1967

คำนิยามของผู้ลี้ภัย (ส่วนหนึ่งจากอนุสัญญา)

ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางกลับมาตุภูมิเนื่องจากความหวาดกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะได้รับการ

  • ประหัตประหารด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งทางสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมือง
  • เป็นบุคคลที่อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติตน และไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะได้รับความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติตนเนื่องจากความหวาดกลัวดังกล่าว
  • หรือนอกจากนี้เป็นบุคคลไร้สัญชาติซึ่งอยู่นอกอาณาเขตรัฐเดิมที่ตนมีถิ่นฐานพำนักประจำแต่ไม่สามารถ หรือไม่สมัครใจที่จะกลับไปเพื่อพำนักในรัฐดังกล่าว ด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวข้างต้น

อนุสัญญาฉบับนี้จะไม่ใช้ต่อบุคคลที่ ณ เวลาปัจจุบันได้รับความคุ้มครองหรือความช่วยเหลือจากองค์กรหรือหน่วยงานอื่นของสหประชาชาตินอกจากข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ

ข้อกำหนดแห่งอนุสัญญาฉบับนี้จะไม่ใช้ต่อบุคคลซึ่งมีเหตุผลหนักแน่นในอันที่จะทำให้พิจารณาได้ว่า

(a) บุคคลนั้นได้ประกอบอาชญากรรมต่อสันติภาพ อาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามที่บัญญัติไว้ในกรรมสารระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมดังกล่าว

(b) บุคคลนั้นได้ประกอบอาชญากรรมร้ายแรงซึ่งมิใช่อาชญากรรมทางการเมืองนอกเขตรัฐที่ตนขออาศัยลี้ภัยก่อนที่รัฐนั้นจะยอมรับเข้าอาณาเขตในฐานะผู้ลี้ภัย

(c) บุคคลที่มีความผิดในการละเมิดวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ

อนุสัญญานี้เป็นทั้งเครื่องมือในการให้ความหมายทางสถานะและสิทธิของผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ และหลักกฎหมายสำคัญหลายประการเช่นหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้โดยปราศจากการถูกเลือกปฏิบัติ รัฐภาคีต้องไม่กำหนดโทษตามกฎหมาย ด้วยเหตุการเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือการพำนักอยู่อย่างผิดกฎหมายต่อผู้ลี้ภัยตามนิยามของอนุสัญญา รวมไปถึงการห้ามมิให้ขับไล่หรือส่งกลับ

โดยผู้ลี้ภัยทุกคนมีหน้าที่ต่อรัฐที่ตนเข้ามาอยู่ในอาณาเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าที่ในการปฏิบัติตนตามกฎหมายและข้อบังคับต่างๆ รวมถึงมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน