Skip to main content

ภาษา

 

ชาวบุรุนดีกว่า 50,000 คนต้องลี้ภัยเพื่อหนีปัญหาความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น

หญิงชราชาวบุรุนดียืนขอความช่วยเหลือที่ค่ายผู้ลี้ภัยมาฮามาในประเทศรวันดาร่วมกับผู้ลี้ภัยชาวบุรุนดีอีกหลายคน

 

กรุงเจนีวา 8 พฤษภาคม  (UNHCR) – หน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติเตือนว่าความรุนแรงช่วงก่อนการเลือกตั้งที่ประเทศบุรุนดีจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทวีปแอฟริกามากที่สุดในประวัติศาสตร์ผู้ลี้ภัย ซึ่ง ณ ตอนนี้มีชาวบุรุนดีกว่า 50,000 คนต้องลี้ภัยจากประเทศตัวเองไปยังประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่กลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ตั้งแต่สงครามกลางเมืองบุรุนดีสิ้นสุดลงเมื่อปีพ.ศ 2548 ทางออกที่ยั่งยืนเพื่อผู้พลัดถิ่นหลายพันคนได้ถูกค้นพบ หลังจากที่ความรุนแรงได้ยืดเยื้อมานานเป็นสิบปี โดยรวมถึงหนึ่งในโครงการเดินทางกลับประเทศโดยสมัครใจที่ใหญ่ และประสบความสำเร็จที่สุดของโลกคือการช่วยผู้ลี้ภัยชาวบุรุนดีกว่าครึ่งล้านคนได้กลับบ้าน  โดยการช่วยเหลือของ UNHCR

ประเทศแทนซาเนียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่ช่วยให้ที่พักพิงผู้ลี้ภัยชาวบุรุนดีที่ลี้ภัยจากความรุนแรงมาตั้งแต่ปีพ.ศ 2515 ที่ผ่านมาประเทศแทนซาเนียได้มอบสิทธิพลเมืองให้กับชาวบุรุนดี และลูกหลานของพวกเขากว่า 200,000 คนซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดเท่าที่ UNHCR ได้ทำโครงการตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ลี้ภัย ในขณะที่ผู้คนหลายพันคนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 โดยมากกว่า 8,000 คนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เอเดรียน เอ็ดเวิร์ดส์ โฆษกของ UNHCR กล่าวกับนักเขียนข่าวในเจนีวาในช่วงก่อนการเลือกตั้งสองอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าตอนนี้ผู้คนหลายหมื่นคนต้องลี้ภัยไปยังประเทศรวันดา แทนซาเนีย สาธารณรัฐคองโก

“ผู้คนจำนวนมากได้เดินทางลี้ภัยมายังประเทศรวันดา (25,004 คน) และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจำนวนของผู้ขอลี้ภัยในแทนซาเนียสูงเพิ่มขึ้นมาก (17,696 คน) ถึงแม้ว่ามาตรการอนุญาตคนเข้าเมืองจะเข้มงวดขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ยังมีผู้คนกว่า 8,000 คนที่เดินทางข้ามมายังเมืองคิวูในสาธารณรัฐคองโก ส่วนใหญ่คือผู้หญิงและเด็ก และรวมถึงคือเด็กที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูแลอีกจำนวนมาก” เอ็ดเวิร์ดส์ กล่าว

ในเมืองบูจุมบูรา เมืองหลวงของประเทศบุรุนดี ผู้ต่อต้านได้ออกมาออกมาประท้วงตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาและมีรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน เหตุการณ์ความไม่สงบยังได้ลุกลามออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย  ในประเทศรวันดาผู้คนที่เดินทางมาถึงใหม่ได้บอกถึงสาเหตุที่ลี้ภัยมาจากประเทศบุรุนดีว่าเนื่องมาจากการถูกล่วงละเมิดและการถูกข่มขู่โดยกองกำลังติดอาวุธเยาวชนอิมโบเนรากูที่ได้มาทำเครื่องหมายสีแดงหน้าประตูบ้านของตนว่าเป็นเป้าหมายถัดไป

“บางคนได้ตัดสินใจลี้ภัยเนื่องจากได้ประเมินความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้นในลักษณะนี้ในอดีตมาแล้วคิดว่าจะต้องจบในลักษณะเดียวกันอีก โดยรายงานระบุว่าผู้คนจำนวนนึงได้ขายทรัพย์สินของตนเองก่อนเดินทางออกจากประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณถึงความคาดหมายถึงความไม่ปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน” เอ็ดเวิร์ดส์ เสริม

ผู้อพยพที่เดินทางมาถึงใหม่จำนวนมากนั้นเดินทางมาจากจังหวัดโงซิและมูยิงกาทางตอนเหนือของประเทศบุรุนดี อย่างไรก็ตามในสัปดาห์ที่ผ่านมา UNHCR ยังพบผู้ที่เดินทางมาจากในตัวเมืองรวมถึงเด็กนักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัยด้วย “ด้วยความช่วยเหลือจากรัฐบาลรวันดา เราสามารถเคลื่อนย้ายผู้ลี้ภัยไปยังค่ายผู้ลี้ภัยมาฮามาแห่งใหม่ได้ ซึ่งค่ายนี้สามารถรองรับผู้คนได้มากถึง 60,000 คน” เอ็ดเวิร์ดส์ กล่าว

ผู้คนจำนวนมากต้องประสบกับปัญหาและความยากลำบากในการลี้ภัยจากประเทศบุรุนดี ผู้หญิงบางคนต้องพบกับความเสี่ยงที่จะโดนข่มขืนโดยกลุ่มชายติดอาวุธ และต้องจ่ายค่าสินบนตลอดการเดินทาง บางครอบครัวก็ต้องหอบลูกๆเดินเท้าผ่านป่าเขาเป็นชั่วโมงๆ

ณ ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยชาวบุรุนดีกว่า 7,661 คนในสาธารณรัฐคองโก และผู้ที่มาถึงใหม่นั้นได้รับการดูแลโดยครอบครัวชาวท้องถิ่น แต่ด้วยจำนวนที่มากขึ้นๆทุกวันทำให้ความช่วยเหลือที่มีอยุ่นั้นไม่เพียงพอ UNHCR เข้ามอบความช่วยเหลือให้กับผู้ลี้ภัยที่เดือดร้อนกว่า 500 คนที่เดินทางมายังศูนย์ส่งต่อในคาวิมวิรา และอีกหนึ่งศูนย์ที่หมู่บ้านซานเก รวมถึงทำงานเพื่อหาพื้นที่ที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นโรงเรียน ศูนย์อนามัย และได้รับความปลอดภัยได้

เอ็ดเวิร์ดส์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศแทนซาเนีย มีผู้คนกว่า 4,000 คนได้รับการลงทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัย และอีกกว่า 13,000 คนที่ยังอยู่ในกระบวนการ และชาวบุรุนดีอีกประมาณ 10,000ที่เดินทางมาถึงทะเลสาปแทนกานยิกาบนเกาะคากันกาแล้ว
“เราได้เริ่มย้ายพวกเขาโดยเรือเฟอร์รี่เก่าที่สามารถขนคนได้มากถึง 600 คน ผู้ขอลี้ภัยจากหมู่บ้านและเกาะต่างๆได้ถูกนำส่งค่ายผู้ลี้ภัยนีอารูกูซูที่ที่พวกเขาจะมีพื้นที่สำหรับสร้างที่พักพิงชั่วคราวและปลูกผักได้” เอ็ดเวิร์ดส์กล่าว

UNHCR ได้ร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ในประเทศบุรุนดีเพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ “มันเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกันที่จะต้องเปิดแนวชายแดนไว้เพื่อช่วยเหลือการลี้ภัยของผู้คน และเราขอขอบคุณในความร่วมมือในการช่วยเหลือนี้จากประเทศเพื่อนบ้านต่างๆรวมถึงความช่วยเหลือที่ประเทศเจ้าบ้านได้มอบให้กับผู้ลี้ภัย” เอ็ดเวิร์ดส์ โฆษก UNHCR เน้นย้ำ