Skip to main content

ภาษา

 

โรงแรม Baltimore รับผู้ลี้ภัยเป็นพนักงาน

ริฟาด จัสมิน เข้าทำงานที่โรงแรม Hilton Baltimore เป็นเวลา 3 เดือนแล้ว เขาเคยป็นพนักงานของสถานทูตอเมริกาประจำประเทศอิรัก เขาได้รับการส่งตัวมายังประเทศสหรัฐอเมริกาหลังจากถูกขู่เอาชีวิต

 

รัฐบัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา(ยูเอ็นเอชซีอาร์)–เพียงไม่ถึงสองปีหลังจากที่โครงการจัดหางานและอาชีพให้แก่ผู้ลี้ภัยใน บัลติมอร์ ริเริ่มขึ้น ทำให้โรงแรมฮิลตัน ได้รับรางวัลนายจ้างแห่งปีของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงได้รับการยกย่องจากผู้ว่าการรัฐบัลติมอร์อีกด้วย

ปัจจุบันทางโรงแรมได้จ้างพนักงานซึ่งเป็นอดีตผู้ลี้ภัยเข้าทำงานแบบเต็มเวลาเป็นจำนวนถึง 65 คน ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในตำแหน่งบริการและพนักงานทำความสะอาด โอกาสต่าง ๆ ที่ทางโรงแรมมอบให้ ช่วยให้ผู้ที่ต้องการประกอบอาชีพในสาขาการต้อนรับกับทางโรงแรมได้มีโอกาสแสดงศักยภาพที่ตนมีอยู่ให้ปรากฏ

ทรูดี้ บาวเออร์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโรงแรม ได้กล่าวถึงความเปิดกว้างที่พวกเขารับพนักงานที่พึ่งจะย้ายถิ่นฐานมาได้ไม่นาน ซึ่งยังไม่มีทักษะหรือความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ว่า “พวกเราประทับใจกับทัศนคติของเขาใน พวกเขาต้องการทำงาน นายจ้างบางคนลังเลในการจ้างคนที่เพิ่งย้ายมาใช้ชีวิตในอเมริกา แต่เราได้รับประสบการณ์ที่ดีจากคนเหล่านั้นมาโดยตลอด” บาวเออร์ กล่าว

รางวัลนายจ้างแห่งปีของทางโรงแรมนี้ได้รับมอบมาจาก Baltimore Office of Lutheran Immigration and Refugee Services ซึ่ง มามาดูซี ทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเดินทางมาถึงเพื่อตั้งถิ่นฐานในเมือง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการหางาน เขาได้พบกับเจ้าหน้าที่ของโรงแรมฮิลตันและฝ่ายพัฒนาการจ้างงานของสำนักนายกเทศมนตรีในระหว่างที่โรงแรมกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เมื่อปีพ.ศ. 2551 และยังคงมีการพูดคุยกันเรื่องตำแหน่งงานใหม่ๆ อย่างสม่ำเสมอ

“โรงแรม ฮิลตัน บัลติมอร์ เป็นหนึ่งในบรรดาผู้จ้างงานผู้ลี้ภัยรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในเมืองนี้ โดยมีค่าตอบแทนแรกเข้าสำหรับบางงานสูงที่สุดอีกด้วย” เขากล่าว “เจ้าหน้าที่ของเราทำงานร่วมกับเขาในทุกๆ ขั้นตอน พวกเราจะเข้าร่วมกับเขาในการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยเพื่อรับเข้าทำงาน และทางโรงแรมรู้ว่าพวกเขาสามารถติดต่อเราได้ตลอดเวลาถ้าเกิดปัญหาใดๆ เกิดขึ้น”

หลังจากต้องอดทนกับภัยคุกคามและความรุนแรงของกบฎเมาอิสต์ในท้องถิ่นเนปาล และได้รับอนุญาตให้เข้าลี้ภัยในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบัน บินกี เชรดต้า ทำงานเป็นหัวหน้าทีมพนักงานทำความสะอาดของโรงแรม ซึ่งหลายคนในนั้นก็เป็นอดีตผู้ลี้ภัยเช่นกัน

เธอได้รับการช่วยเหลือในการหางานทำของเธอโดย International Rescue Committee ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ทำงานร่วมกับโรงแรมฮิลตัน เธอซึ่งพูดภาษาอังกฤษด้วยความมั่นใจได้กล่าวว่าตนเองเคยต้องดิ้นรนทั้งทางด้านภาษากับเพื่อนร่วมงานชาวอเมริกันของเธอ รวมถึงปรับตัวด้านความแตกต่างทางวัฒนธรรมอื่นๆ อีกด้วย ขณะนี้เธอมีความหวังว่าอาชีพของเธอจะพัฒนาเป็นและเติบโตในสาขาการโรงแรมได้

ริฟาด จัสมินเคยทำงานที่สถานทูตอเมริกาในเมืองแบคแดด เป็นช่างเทคนิคคอมพิวเตอร์ เมื่อเขาและครอบครัวของเขาถูกขู่เอาชีวิต เขาถูกนำตัวส่งไปยังเมืองบัลติมอร์ ในปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ในอเมริกา และได้ทำงานที่โรงแรมตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ด้วยหน้าที่พนักงานบริการในห้องจัดเลี้ยง เขายอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงยังคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย

“ชีวิตในอเมริกานั้นดี แต่ก็ยากลำบาก”เขากล่าว เขากำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งจะสำเร็จหลักสูตรการบัญชี และยังคงมีทัศนคติที่ดีต่ออนาคต “มันจะดีต่อพวกเด็ก ๆ”

เรื่องโดย ทิม เออร์วิน ใน บัลติมอร์ สหรัฐอเมริกา

ขอบคุณผู้แปล คุณปรียารัตน์ หินแก้ว