Skip to main content

ภาษา

 

สังคมไทยระดมการบริจาคช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นหลบหนีเข้าประเทศทางเรือที่ภาคใต้

ผู้หญิง และเด็กหลายร้อยคนที่พลัดถิ่นหลบหนีออกจากประเทศพม่ามายังประเทศไทยได้รับการช่วยเหลืออย่างอบอุ่นจากสังคมไทย

 

จังหวัดสงขลา ประเทศไทย, 15 กุมภาพันธ์  (ยูเอ็นเอชซีอาร์) – โดยทั่วไปแล้วศูนย์พักพิงสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงมักจะเป็นถูกเก็บความลับ และตั้งอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัยเพื่อคุ้มครองพวกเขาจากการถูกคุกคาม และการแสวงประโยชน์รูปแบบอื่น ๆ

แต่หนึ่งในที่ศูนย์พักพิงที่จังหวัดสงขลา ภาคใต้ของประเทศไทยได้รับการเปิดเผย เนื่องจากสื่อและประชาคมนานาชาติได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมกลุ่มคนพวกนี้ที่เข้ามาอยู่ใหม่ในสังคมไทย อย่างต่อเนื่อง กลุ่มคนเหล่านี้ได้แก่ผู้หญิงและเด็ก จำนวน 105 คนจากรัฐยะไข่ในประเทศพม่า ส่วนหนึ่งจาก 1,700 คนที่พลัดถิ่นหลบหนีเข้าประเทศทางเรือ โดยที่รัฐบาลไทยไห้การคุ้มครองชั่วคราวเพื่อรอทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา
 
* อมินา วัย 30 ปี แม่ของลูก 4 คน ชาวบ้านของเมืองมังเดา ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ แสดงความขอบคุณการดูแลที่จัดให้ในศูนย์พักพิงโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เธอเล่าถึงชีวิตก่อนหน้านี้ที่บ้านของเธอว่า หลังจากความรุนแรงระหว่างชุมชนในปีที่ผ่านมา เธอไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยที่หมู่บ้านของเธอถูกล้อมรอบด้วยหมู่บ้านของชาวยะไข่ถึง 9 หมู่บ้าน 
"พวกเขามาพร้อมกับมีดและอาวุธ" เธอกล่าว "2 เดือนที่เรามีการเตรียมการเพื่อป้องกันตัวเอง แต่วันหนึ่งที่เราเห็นพวกเขามาพร้อมกับไฟ เราตัดสินใจที่จะออกจากหมู่บ้านทันที"
 
อมินาพาลูกๆอายุตั้งแต่ 5 ขวบ ถึง13 ปีของเธอเดินเท้าพร้อมกับเสื้อผ้า 2-3 กระเป๋า โดยมุ่งหน้าไปทางทิศใต้ เธอได้หยุดพักบ้างในหมู่บ้านของชาวมุสลิมระหว่างทางที่ลี้ภัย ในที่สุดลุงของเธอเรียก และบอกเธอว่าจะมีเรือไปมาเลเซียที่ๆสามีของเธอทำงานอยู่ ในที่สุดครอบครัวของเธอเดินทางถึงท่าเรือ และต้องจ่ายเงินถึง 200,000 จั๊ต หรือประมาณ 7,000 บาท และพบว่าตัวเองต้องอยู่ในเรือที่แน่นด้วยคนประมาณ 200 คน
 
"เรานำข้าวสารติดตัวมาบ้างบางส่วน แต่ 3 วันก็หมด ถึงมีน้ำดื่ม แต่เราก็หิวมาก " อมินา กล่าว "เราอยู่ในทะเลเป็นเวลากว่า 12 วัน โดยเด็กๆนั่งอยู่บนตักของฉัน และในขณะที่เราเข้ามาใกล้ประเทศไทย เกิดฝนตกและคลื่นสูง พวกเรากลัวมาก"
อุปสรรคยังไม่สิ้นสุดเมื่อพวกเขามาถึงประเทศไทย ตามที่อมินาเล่า พวกเธอถูกกลุ่มคนแปลกหน้าไม่ทราบชื่อ พาเข้าป่าก่อนแล้วพาไปที่บ้านที่พวกเขาอยู่จนกระทั่งถูกตรวจพบโดยตำรวจในช่วงกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลา 2 วันในคุก อมินาและลูก ๆ ของเธอถูกนำไปที่ศูนย์พักพิงในจ.สงขลา
 
และเมื่อกลุ่มของเธอมาถึงศูนย์พักพิง ที่นี่ก็เต็มไปด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและองค์กรชุมชน ที่บริจาคทั้งอาหาร เสื้อผ้า รองเท้า ของใช้ในห้องน้ำ ผงซักฟอก และของใช้เพื่อสุขอนามัย ของบริจาคที่ส่งมาไกลที่สุดคือจากจังหวัดเชียงราย ซึ่งห่างจากศูนย์พักพิงถึงกว่า 1,500 กิโลเมตร
 
"ตอนแรก เราจัดของบริจาควางซ้อนๆกันเท่านั้น และเราต้องระดมคนงานหลายคนในการคัดแยก” ผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานที่ศูนย์พักพิงกล่าว “วันนี้ผู้บริจาคได้บริจาคข้าวสารกระสอบใหญ่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กระป๋องขนมปังกรอบ และอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดจะถูกเก็บไว้อย่างดีในห้องเก็บของทั้ง 3 ห้องของเรา”
 
สำหรับผู้ป่วยจากการเดินทางที่ยาวนานรวมถึงการถูกควบคุมตัวได้ถูกนำส่งที่โรงพยาบาลท้องถิ่นแล้ว ส่วนเด็กๆได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคทั่วไปที่พบได้บ่อย
 
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยใกล้เคียงนำอาหารที่ปรุงสำเร็จมาให้ทุกวัน นอกเหนือจากนั้นนักศึกษายังได้จัดกิจกรรมสันทนาการเช่น งานศิลปะและงานฝีมือ เต้นรำ และร้องเพลงเพื่อพวกเขาอีกด้วย 
 
คนไทยที่อยู่ในพื้นที่พยายามปรับตัวที่จะทำให้ผู้หญิงและเด็กกลุ่มนี้รู้สึกเหมือนว่าอยู่ที่บ้านตนเอง แต่ด้วยความแตกต่างของภาษา และวัฒนธรรมทำให้พวกเขาปรับตัวให้เข้ากับชีวิตที่ศูนย์พักพิงค่อนข้างลำบาก สำหรับเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในพื้นที่ทำงานอย่างหนักเพื่อดูแลกลุ่มคนจำนวนมากกลุ่มนี้ และได้ขอให้มีเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม
 
เมื่อถามถึงวิธีรับมือกับเหตุการณ์นี้ อมินากล่าวว่า "คนที่นี่ใจดีและห่วงใยพวกเรามาก พวกเราสามารถนอนหลับโดยไม่ต้องวิตกกังวล แต่สามีของฉันอยู่ในประเทศมาเลเซีย ฉันและลูก ๆ อยากไปอยู่กับเขาที่นั่น "
 
ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้เข้าพูดคุยกับผู้หญิง และเด็กในศูนย์พักพิง 8 แห่งที่ภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงผู้ชายในศูนย์ควบคุมคนเข้าเมืองเพื่อประเมินสถานการณ์ของพวกเขา และเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้นถึงความต้องการการคุ้มครองทางด้านมนุษยธรรม 
 
นอกเหนือจากนี้ยูเอ็นเอชซีอาร์ยังให้การสนับสนุนหน่วยงานของไทยในการหาทางออกสำหรับคนกลุ่มนี้อีกด้วย
 
* นามแฝง เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
 
โดยวิเวียน แทน
 
จ.สงขลา ประเทศไทย