UNHCR ในประเทศไทย
เราทำงานร่วมกับรัฐบาลและองค์กรเอกชน (NGOs) เอ็นจีโอ เพื่อให้ความช่วยเหลือและให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่พักพิงในค่ายที่พักพิงชั่วคราวในประเทศ ตามคำเชิญของรัฐบาลไทยในปี พ.ศ. 2518 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานนานาชาติ องค์การนอกภาครัฐ และผู้บริจาคทั้งภาครัฐและเอกชนมาอย่างยาวนานเพื่อให้ความคุ้มครอง ความช่วยเหลือ และหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลมาจากประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา และประเทศอื่นๆ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (The United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ได้เริ่มทำงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นครั้งที่สองในปีพ.ศ. 2524 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานด้านมนุษยธรรมในช่วงวิกฤติผู้ลี้ภัยโดยทางเรือจากสงครามอินโดจีน ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบัน ประเทศไทยให้ที่พักพิงที่ปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาราว 97,000 คน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลไทยจำนวน 9 แห่งบริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองประมาณ 5,000 คนจาก 40 ประเทศทั่วโลก และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยอีกน้อยราว 479,000 คน
ทุกวันนี้ สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยนั้นมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
ความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่ถือเป็นหนึ่งในสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่ยาวนานที่สุดในโลกอย่างตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมา นับตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศนั้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับผู้ลี้ภัยในการเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาโดยสมัครใจ อย่างปลอดภัย และมีศักดิ์ศรี
ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเมียนมา รวมถึงความช่วยเหลือจาก UNHCR และองค์กรพันธมิตร ได้นำไปสู่การเดินทางกลับสู่มาตุภูมิโดยสมัครใจของผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการกลุ่มแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559
อนึ่ง ผู้ลี้ภัยอีกหลายร้อยคนได้ลงชื่อแสดงความต้องการเดินทางกลับสู่มาตุภูมิโดยสมัครใจในอนาคตอีกด้วย และในหลายปีที่ผ่านมานี้ มีผู้ลี้ภัยที่ได้เดินทางกลับมาตุภูมิด้วยตนเองไปแล้วจำนวนราว 15,000 คน
นอกจากงานหลักในการดำเนินกิจกรรมด้านความคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงการคุ้มครองเด็กและป้องกันความรุนแรงทางเพศนั้น UNHCR และองค์กรพันธมิตรทั้งในประเทศไทยและประเทศเมียนมา ยังทำงานร่วมกันในการประสานงานเรื่องการกลับสู่มาตุภูมิโดยสมัครใจแบบได้รับการอำนวยความสะดวกและในกระบวนการบูรณาการชุมชนที่ยั่งยืน
ขณะนี้โครงการการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามของผู้ลี้ภัยจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวนั้นสิ้นสุดลงแล้ว UNHCR ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและประเทศปลายทางทุกประเทศที่ให้การสนับสนุนทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนและปลอดภัยแก่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาในประเทศไทยกว่า 100,000 คน ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา
สำหรับผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมืองนั้น UNHCR มีความยินดีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการให้มีระบบคัดกรองผู้ลี้ภัยในประเทศเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 และมีความคืบหน้าทางด้านการรับรองมาตรการอื่นนอกเหนือจากการควบคุมตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็ก ผู้หญิง และผู้ที่มีความต้องการทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน
การดำเนินมาตรการเหล่านี้ของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนแผนรับมือสถานการณ์ผู้ลี้ภัยฉบับครอบคลุม (Global Comprehensive Refugee Response) และความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างความมั่นคงของชาติกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมซึ่งประเทศไทยได้แสดงให้เห็นมาโดยตลอด
ในขณะเดียวกัน UNHCR ก็จะยังคงทำงานอย่างเต็มกำลังเพื่อให้ความคุ้มครองและดำเนินกิจกรรมให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ แก่ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยในเขตเมือง รวมไปถึงการพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัย และการสนับสนุนการเรียนการสอนภาษาไทยเพื่อให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยและผู้ขอลี้ภัยได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาภายใต้นโยบาย “การศึกษาเพื่อปวงชน” (Education for All) ของรัฐบาลไทย ในระหว่างที่กำลังหาทางออกระยะยาว
ทั้งนี้ UNHCR สนับสนุนประเทศไทยในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องสำหรับประชาชนราว 470,000 คน ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยว่าเป็นบุคคลไร้สัญชาติ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 มีบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ได้รับสัญชาติไทยไปแล้วกว่า 100,000 คน
UNHCR และองค์กรพันธมิตรได้ก่อตั้งศูนย์บริการในจังหวัดเชียงราย 13 แห่ง เพื่อให้คำปรึกษาในการยื่นคำร้องเกี่ยวกับสถานะบุคคลและสัญชาติซึ่งเป็นประโยชน์โดยตรงต่อบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนกว่า 16,000 คน โดยในปี พ.ศ. 2561 UNHCR ร่วมกับองค์กรพันธมิตรยื่นคำร้องแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ 3,379 คน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมโครงการ #IBelong ของ UNHCR เพื่อรณรงค์ยุติความไร้รัฐไร้สัญชาติภายในปี พ.ศ. 2567 และก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำของกลุ่ม “Friends of the Campaign” ของโครงการนี้ อันเป็นการเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการทำงานในระดับประเทศ และบทบาทผู้นำในการแก้ปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติและปัญหาผู้ลี้ภัยในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในขณะที่โลกของเรากำลังเผชิญกับความขัดแย้งและการประหัตประหารในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนที่ทำให้จำนวนผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยเพิ่มมากขี้นเรื่อยๆ
ในประเทศไทย UNHCR มีเจ้าหน้าที่ชาวไทยและชาวต่างชาติราว 180 คน ซึ่งส่วนหนึ่งทำงานในสำนักงานกรุงเทพฯ และมากกว่าครึ่งทำงานอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวในกาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และแม่สอด