Skip to main content

ภาษา

 

ติมอร์ตะวันออก สัญญาจะไม่ทอดทิ้งผู้ลี้ภัยแม้ว่าสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์จะปิดลง

ประธานาธิบดีโจเซ รามอน-ฮอร์ตา ของประเทศติมอร์ตะวันออก มอบของที่ระลึกให้กับนาย เจมส์ ลินช์ ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียในพิธีการปิดสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ที่เมืองดิลี

 

เมืองดิลี  ติมอร์ตะวันออก 12 ม.ค. 55 (ยูเอ็นเอชซีอาร์) –ในพิธีการปิดสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ประธานาธิบดีประเทศติมอร์ตะวันออก นาย โจเซ รามอน-ฮอร์ตา ขอบคุณยูเอ็นเอชซีอาร์ที่ได้ช่วยเหลือประเทศเกิดใหม่ของเขาผ่านวิกฤติการณ์หลายครั้งในช่วงที่เปิดประเทศใหม่ๆ

นาย รามอน-ฮอร์ตาได้จัดพิธีการปิดสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ขึ้นที่วังประธานาธิบดี และให้คำมั่นว่าจะไม่มีวันทอดทิ้งและหันหลังให้ผู้ลี้ภัยเพราะว่าพวกเขาเองก็เคยถูกให้เนรเทศมาก่อนเช่นกัน

"เราพร้อมเสมอที่จะรับผิดชอบมากขึ้น" เขากล่าว "นี่จะเป็นวิธีขอบคุณที่ดีที่สุดให้กับยูเอ็นเอชซีอาร์และนานาชาติที่เคยได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยของเราตลอดหลายปีที่ผ่านมา"

ท่านประธานาธิบดี ผู้ที่เคยตกอยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยมานานกว่า 20 ปีและใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียในช่วงปี พ.ศ.2518-2542 กล่าวว่า การปิดตัวลงของสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ที่มีอายุกว่า 12 ปีนี้เป็นการพิสูจน์ว่า ประเทศติมอร์ตะวันออกได้มีชัยชนะเหนือปัญหาด้านมนุษยธรรมต่างๆที่เคยเกิดขึ้นครั้งเปิดประเทศใหม่ๆ "นี่คือข่าวดี ข่าวดีมากๆ" เขากล่าว

ยูเอ็นเอชซีอาร์เปิดทำการที่เมืองดิลี  ประเทศติมอร์ตะวันออก เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์รุนแรงจากการเรียกร้องเอกราชจากประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ที่ส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยทันที 3.5 แสนคนไปยังติมอร์ตะวันตก ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจำนวน 220,000 คน กลับบ้านและช่วยเหลือประเทศติมอร์ตะวันออกในการปรับตัวสู่การได้รับเอกราช ประเทศติมอร์ตะวันออกได้เป็นประเทศล่าสุดในช่วงศตวรรษที่ 21 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2545และเป็นประเทศสมาชิกของสหประชาชาติอันดับที่ 191

นาย เจมส์  ลินช์ ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติประจำภูมิภาคและผู้ประสานงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชมเชยว่า "ประเทศติมอร์ตะวันออกเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จและน่าชื่นชมมาก" โดยกล่าวว่าประเทศติมอร์ตะวันออกเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคนี้ที่ลงนามในอนุสัญญาปีพ.ศ. 2494 ว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย "ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเป็นประเทศที่เกือบจะไม่มีผู้ลี้ภัยหรือผู้ขอลี้ภัย แต่ก็มีกฏหมายท้องถิ่นที่จะคุ้มครองคนเหล่านี้" เขากล่าวในพิธีปิดวันนี้

ในปี พ.ศ. 2549 ได้เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินในประเทศติมอร์ตะวันออก ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้เร่งช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นจำนวนกว่า  150,000 คนจาก ประเทศใหม่ที่เปราะบาง กลุ่มหัวรุนแรง การฉกชิงทรัพย์ และการลอบวางเพลิง

นาย รามอน-ฮอร์ตาและ นาย  ลินช์ได้กล่าวสรรเสริญ เจ้าหน้าที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ 3 ท่าน นาย แซมซั่น อรีกาเฮน นาย คาร์ลอส คาเซเรส และนาย เปโร สิมุลซา ที่ได้เสียชีวิตในติมอร์ตะวันตกเมื่อ เดือนกันยายน พ.ศ. 2543

"เราจะจดจำถึงการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของพวกเขาและเจ้าหน้าที่ท่านอื่นๆที่ทำให้ผู้ลี้ภัยชาวติมอร์ได้กลับบ้าน" นาย ลินช์ สรรเสริญ "ผมเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างยูเอ็นเอชซีอาร์ และ ประชาชนประเทศติมอร์ตะวันออก เข้มแข็งขึ้นจากเรื่องเลวร้ายต่างๆ"

จากการปิดสำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ที่ประเทศติมอร์ตะวันออก สำนักงานยูเอ็นเอชซีอาร์ประจำภูมิภาคที่กรุงเทพมหานคร จะยังคงดำเนินงานต่อไปในการประสานงานกับหน่วยงานรัฐและภาคสังคมต่างๆในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยหรือผู้ขอลี้ภัยในประเทศนี้

ขณะที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ที่เเน่นแฟ้นระหว่างยูเอ็นเอชซีอาร์และประเทศติมอร์ตะวันออก อยู่นั้น นาย รามอน-ฮอร์ตาได้กล่าวกับ นาย  ลินช์อย่างติดตลกว่า "ผมหวังว่าคุณจะไม่ต้องกลับมาที่นี่พร้อมกับทีมช่วยเหลือฉุกเฉินอีกนะ"

โดย คิตตี้ แมคคินซี่ ที่เมืองดิลี  ติมอร์ตะวันออก