Skip to main content

ภาษา

 

จากบ่อน้ำมันสู่สงคราม ยูเอ็นเอชซีอาร์ช่วยเหลือคนงานไทยออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในเอธิโอเปีย

นายบุญตา เมียวอยู่ ยิ้มอย่างมีความสุขขณะที่กำลังจะออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในเอธิโอเปีย

 

เอธิโอเปีย ยูเอ็นเอชซีอาร์- ในมุมหนึ่งที่ห่างใกลในประเทศเอธิโอเปีย ยังมีที่ๆหนึ่งที่รองรับผู้ลี้ภัยกว่า 9,000 คนจากรัฐบลูไนล์ ประเทศซูดาน ชายคนหนึ่งต้องอาศัยอยู่ที่นั่นอย่างอดทน หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายบุญตา เมียวอยู่ วัย 65 ปี อาศัย กิน นอน อยู่กับเพื่อนชาวซูดานในค่ายผู้ลี้ภัยทองโก โดยที่ใครเห็นก็ทราบว่าเขาไม่ใช่คนที่มาจากที่นี่

นายบุญตา มาจากประเทศไทยและไม่เคยคาดคิดว่าจะได้มาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย เขามาทำงานที่บริษัทน้ำมันในเมืองมากันซ่า รัฐบลูไนล์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาถูกบังคับให้ลี้ภัยเมื่อเกิดการสู้รบกับระหว่างกองทัพซูดานและกลุ่มกองทัพปลดปล่อยซูดานเหนือ  

ในความสับสนวุ่นวาย เขาได้ขึ้นรถของกลุ่มทหารกองทัพปลดปล่อยซูดานเหนือ โดยถูกพาออกมาเป็นระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร มาที่เมืองดินดูโร รัฐบลูไนล์ โดยที่ทหารหนึ่งในนั้นรู้จักบริษัทต่างชาติ เขาจึงขอร้องให้ผู้จัดการดูแล นาย บุญตา ด้วย โดยเขาพูดว่า สงครามครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับคนต่างชาติ

หลังจากนั้นเขาพบกับ จอร์น บรอล เอคอล ชาวซูดานวัย 24 ปี ผู้ที่ภายหลังเป็นทั้งเพื่อนและล่าม เพราะนายบุญตาไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ทั้งสองคนจึงใช้ท่าทางและภาษาซูดานที่เขาเรียนรู้ได้นิดหน่อยจากการอยู่ที่นี่ในการสื่อความหมาย พวกเขารวมกับกลุ่มแรงงานอินเดียที่ทำงานที่เมืองดินดูโร เดินทางต่อไปที่เมืองเคอร์มุกเพื่อจะอยู่ให้ห่างจากที่ๆมีการต่อสู้ให้ได้มากที่สุด แต่หลังจากนั้นไม่นานก็ต้องหนีอีกครั้งเมื่อมีการทิ้งระเบิดทางอากาศที่เมืองใกล้เคียง

ครั้งนี้ นาย บุญตา และเพื่อนร่วมทางต้องลี้ภัยไปที่ประเทศเอธิโอเปีย ขณะที่เพื่อนอินเดียของเขาได้มีโอกาสขอความช่วยเหลือจากสถานทูต แต่เขาไม่มีเนื่องจากประเทศไทยไม่มีตัวแทนทางการทูตที่ประเทศเอธิโอเปีย เขาร่วมกับเอคอลและเพื่อนร่วมงานชาวซูดานที่เหลือขอความช่วยเหลือจาก เออาร์อาร์เอ (หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและผู้กลับถิ่นฐานของรัฐบาลเอธิโอเปีย) และ ยูเอ็นเอชซีอาร์ให้การช่วยเหลือและความคุ้มครอง

"เพราะเป็นผู้ที่มีสัญชาติอื่น นายบุญตาไม่ใช่ทั้งผู้ขอลี้ภัย ผู้ลี้ภัย ผู้ไร้รัฐ หรือ ผู้ที่พลัดถิ่นในประเทศตนเอง" น.ส. นิโกรา คาดิรฮอดเจด์วา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความคุ้มครอง ยูเอ็นเอชซีอาร์ กล่าว "อย่างไรก็ดี ในการทำงานบนพื้นที่ หลายครั้งที่ยูเอ็นเอชซีอาร์ช่วยเหลือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในภายใต้อาณัติ เราให้เขาลงทะเบียนผู้ลี้ภัยที่ค่ายทองโกเพื่อที่เขาจะมีสิทธิและได้รับความช่วยเหลือและความคุ้มครองเหมือนผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ"

นายบุญตาอาศัยในเต้นท์ยูเอ็นเอชซีอาร์ร่วมกับเอคอล เอคอลกล่าวว่า "นายบุญตาไม่ต้องการอะไรเลย เพื่อนบ้านแบ่งอาหารให้เราและคอยมาดูว่าเขามีคนดูแล เขาเข้มแข็งมากเทียบกับอุปสรรคที่เขาเจอ เขาพยายามฆ่าเวลาด้วยการทำกับข้าวและซักผ้า"

หลังจากนั้นก็มีการประสานงานกันอย่างแข็งขันระหว่างยูเอ็นเอชซีอาร์ เออาร์อาร์เอ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน นายจ้างของนายบุญตาในเมืองคราทูม และ เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยในประเทศซูดาน และ ประเทศไทยในการให้ความช่วยเหลือ              นาย บุญตา ให้ได้ออกจากค่ายทองโก

น.ส. คาดิรฮอดเจด์วา เจ้าหน้าที่ฝ่ายความคุ้มครอง ยูเอ็นเอชซีอาร์ เดินทางเป็นระยะทางกว่า 120 กิโลเมตรจากสำนักงานในเมืองแอสโสสา มาที่ค่ายทองโกหลายต่อหลายครั้ง เพื่อติดตามเอกสารใบขออนุญาตออกจากค่ายทองโก และ ประเทศเอธิโอเปีย ที่มากไปกว่านั้นคือการมาดูว่านาย บุญตา นั้นยังคงสบายดี

"เราแทบไม่ต้องเป็นห่วงอะไร" เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม "ทุกคนที่นี่ รวมถึงผู้ลี้ภัยคนอื่นๆให้คำมั่นกับยูเอ็นเอชซีอาร์ว่าจะพาเขากลับบ้านให้ได้ โดยที่ไม่รู้ว่ายูเอ็นเอชซีอาร์ก็พยายามอย่างมากในเรื่องนี้เช่นกัน"

ในวันที่ 24 พ.ย. ยูเอ็นเอชซีอาร์ได้รับข่าวที่ทุกคนรอคอย สำนักงานเออาร์อาร์เอ ใน แอดดิส อบาบา ได้ให้ใบอนุญาตออกจากค่ายให้กับนาย บุญตา เพื่อเข้าเมืองหลวงได้ น.ส. คาดิรฮอดเจด์วา เลือกที่จะบอกข่าวดีนี้กับเจ้าตัว "เหมือนการขับรถที่ไม่มีที่สิ้นสุด" เธอนึกถึงวันนั้น "ฉันแทบจะรอไม่ไหวที่จะบอกข่าวและเห็นปฏิกิริยาเขา"

เมื่อเขาทราบข่าว นาย บุญตา ยังคงมีสีหน้าที่นิ่ง แต่เขาแสดงความสุขและความรู้สึกโล่งใจ ผ่านการก้มศรีษะและกุมมือนิ่งบนใบหน้าของเขา และเมื่อเอคอลและเพื่อนบ้านร่วมแสดงความยินดี เขายิ้มกว้างรวมถึงสวมกอดเพื่อนของเขา พวกเขาใช้เวลา 2 - 3 ชั่วโมงสุดท้ายด้วยกัน

เอคอลกล่าวถึงข้อความสุดท้ายจาก นาย บุญตา ว่า  "เขาอยากขอบคุณทุกคน ทุกคนที่ช่วยเหลือให้เขาปลอดภัย ขอบคุณรัฐบาลเอธิโอเปีย ผู้ลี้ภัยในค่ายทองโก และทุกหน่วยงานที่ทำให้เรื่องนี้เป็นจริง"

แม้ว่าจะเสียใจที่เห็นเพื่อนจากไป เอคอลเสริม "ผมดีใจกับเขาจริงๆ ความขัดแย้งในซูดานไม่เกี่ยวกับเขาสักนิด เขาแค่มาอยู่ผิดที่ผิดเวลา ถึงแม้ผมจะคิดถึงเขาแต่ก็ยินดีที่ได้โบกมือส่งเขาออกเดินทางก้าวแรกเพื่อที่จะได้กลับบ้าน กลับประเทศไทย"

โดย ภุมลา รูลาเช่ล์ ใน แอสโอสา ประเทศเอธิโอเปีย