Skip to main content

ภาษา

 

บ.แมนเพาเวอร์ ร่วมกับยูเอ็นเอชซีอาร์อบรมผู้ลี้ภัยที่ได้รับการตั้งถิ่นฐานใหม่ในอเมริกา

บ.แมนเพาเวอร์ ร่วมกับยูเอ็นเอชซีอาร์อบรมผู้ลี้ภัยที่ได้รับการตั้งถิ่นฐานใหม่ในอเ

 

ค่ายแม่หละ ประเทศไทย 22 ก.ค. (ยูเอ็นเอชซีอาร์) อา ยอ พอ ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุ 26 ปีตัดสินใจขออนุญาตเดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยความหวังว่าลูกชายเล็กๆทั้งหมดของเธอจะได้รับการศึกษาที่ดี

ตัวเธอเองถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับลูกๆโดยการเป็นนักเรียนที่ประสบความสำเร็จจากโครงการนำร่องด้านการพัฒนาทักษะที่ออกแบบมาเพื่อผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าที่อาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวทางตอนเหนือของประเทศไทยเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำงานในสำนักงานในอเมริกา โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างยูเอ็นเอชซีอาร์และบริษัท แมนเพาเวอร์ ผู้นำด้านการให้บริการจัดหางานทั่วโลก

“ได้ยินมาว่าเขาจะสอนให้เรารู้ว่าทำงานในสำนักงานอย่างไร รวมทั้งช่วยเรื่องภาษาอังกฤษด้วย” หญิงสาวที่พูดได้สามภาษากล่าว “ได้เรียนรู้เยอะมากจากคอร์สนี้ ได้รู้ว่าจะส่งใบลางานอย่างไร ใช้เครื่องถ่ายเอกสารอย่างไร รวมถึงทักษะขั้นพื้นฐานอื่นๆ อีกด้วย ภาษาอังกฤษก็ดีขึ้น”

ภายใต้โครงการนำร่อง ผู้ลี้ภัยจำนวน 19 คน แบ่งเป็นชาย 7 คน และหญิง 12 คน ได้เข้ารับการอบรมระยะเวลา 6 สัปดาห์ในพื้นที่พักพิงฯ ครูผู้ฝึกสอน และอาสาสมัครจากบ.แมนเพาเวอร์อบรมผู้ลี้ภัยผ่านการสื่อวิดีโอ การจำลองบทบาทต่างๆ และการสอนแบบนำไปใช้ได้จริง ทำให้ผู้ลี้ภัยได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำงานในสำนักงานในอเมริกา ผู้ลี้ภัยอีกกว่า 30 คนจะได้รับการอบรมระยะเวลา 6 สัปดาห์ในคอร์สที่สองซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนก.ค.

สำหรับผู้ลี้ภัยซึ่งอาศัยในพื้นที่ห่างไกล การสอนหัวข้อต่างๆเป็นภาษาอังกฤษถือเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก อาทิ การวางแผนงานในสำนักงาน การซื้ออาหารในโรงอาหาร การวางตัวต่อเพื่อร่วมงานในเวลาพักกลางวัน การรายงานความคืบหน้าของงาน การถ่ายเอกสาร การจัดเก็บเอกสาร การโอนโทรศัพท์ และทักษะที่จำเป็นอื่นๆในการทำงานในสำนักงาน

“ครูผู้สอนอดทนกับพวกเรามาก” อา ยา พอ กล่าว “นักเรียนที่เข้ารับการอบรมมีพื้นฐานด้านการศึกษาที่ต่างกัน และบางคนอาจจะตามเพื่อนไม่ทัน แต่ผู้อบรมก็อดทนที่จะอธิบายบทเรียนให้เราฟัง จริงๆ แล้วอยากให้บทเรียนยาวกว่า 6 อาทิตย์”

ไซมอน แมททิว ผู้จัดการ บ.แมนเพาเวอร์ ประจำประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการสอนทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้ลี้ภัยในการที่จะทำให้พวกเขาสามารถทำงานร่วมกับเจ้านาย และเพื่อนร่วมงานในวัฒนธรรมที่แปลกใหม่สำหรับพวกเขา รวมทั้งทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นในการทำงานได้จริงอีกด้วย

พนักงานบ.แมนเพาเวอร์ที่อาสาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ทั้ง 38 ท่าน ได้ใช้เวลาส่วนตัวในการทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอน โดยการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ดำเนินการโดยองค์กรโซอา จากประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยใช้อุปกรณ์การเรียนการสอนที่จัดเตรียมโดยพนักงานอาสาสมัครของบ.แมนเพาเวอร์

โครงการนำร่องนี้ จัดทำขึ้นเพื่อผู้ลี้ภัยซึ่งได้รับการตอบรับให้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้โครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของยูเอ็นเอชซีอาร์ ซึ่งได้ช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่ากว่า 55,000 คนเดินทางออกจากพื้นที่พักพิงฯในประเทศไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 เป็นต้นมา

จุดเริ่มต้นของโครงการอบรมนี้ เกิดขึ้นจากการเดินทางมาเยี่ยมค่ายในปี พ.ศ. 2550 โดยผู้บริหารของกลุ่มผู้นำทางธุรกิจซึ่งทำหน้าที่ให้คำปรึกษาต่อยูเอ็นเอชซีอาร์เพื่อนำทักษะของภาคธุรกิจมาใช้ในการทำงานด้านมนุษยธรรม มร.เดวิด อาร์คเลส ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานของบ.แมนเพาเวอร์ในขณะนั้น รู้สึกประทับใจต่อเด็กชายผู้ลี้ภัยคนหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ แต่ยังกังวัลว่าจะหางานทำได้อย่างไรระหว่างที่เขาเรียนหนังสือ

มร.อาร์คเลส จึงตั้งใจทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ลี้ภัยที่ได้รับการตั้งถิ่นฐานใหม่ และสำนักงานแมนเพาเวอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในที่สุดโครงการการฝึกอบรมจึงเกิดขึ้น

ซา กิ ระ อายุ 19 ปี เป็นเหมือนผู้ลี้ภัยวัยรุ่นทั่วไปที่มร.อาร์คเลส ได้พบเมื่อสามปีที่แล้ว เธอต้องการเรียนต่อที่อเมริกา แต่ก็จำเป็นที่จะต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ไปด้วย เธอหวังว่าบ.แมนเพาเวอร์จะช่วยให้เธอหางานได้ในระหว่างที่เธอตั้งถิ่นฐานใหม่หลังจากที่เธอได้อาศัยในพื้นที่พักพิงฯแม่หละมาเป็นเวลา 11 ปี

“เรียนเลขกับคอมพิวเตอร์เก่ง” เธอกล่าวแบบเขินอาย “ถ้ารวมทักษะสองด้านเข้าด้วยกัน ก็คิดว่าน่าจะได้งานดี เป็นนักบัญชีได้”

ภายใต้โครงการระยะที่สอง บ.แมนเพาเวอร์วางแผนที่จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างกลุ่มผู้ลี้ภัยจำนวน 15 คนในกลุ่มแรกกับสำนักงานแมนเพาเวอร์ในรัฐต่างๆในอเมริกาเพื่อให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่องในการหางานทำ

น้องสาวของ อา ยอ พอ ได้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในอเมริกา และได้งานทำเป็นพนักงานขายในร้านขายการ์ดอวยพร

ในสัปดาห์นี้ เป็นโอกาสของเธอที่จะพาลูกชายทั้งสอง อายุ 7 และ 2 ขวบ เดินทางไปอเมริกา เธอกล่าวถึงโครงการของยูเอ็นเอชซีอาร์ และแมนเพาเวอร์ว่า “สำหรับผู้ลี้ภัยคนอื่นที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อเมริกา ก็อยากให้พวกเขาได้รู้ว่าการอบรมนี้ เป็นโอกาสที่ดีที่พวกเขาจะได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญที่สุดเมื่อเดินทางไปถึงอเมริกา”

โดย กมลมาศ ใจเย็น จากพื้นที่พักพิงฯ แม่หละ