Skip to main content

ภาษา

 

หลายองค์กรร่วมพัฒนาทักษะผู้ลี้ภัยก่อนไปใช้ชีวิตต่างแดน

 

กรุงเทพฯ 22 ก.ค.-ภาคเอกชนและเอ็นจีโอให้ความช่วยเหลือยูเอ็นเอชซีอาร์ ในการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักฟื้นชายแดนไทย-พม่า เพื่อให้สามารถไปใช้ชีวิตในประเทศที่สามได้ ระบุไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทุกคนที่ต้องการเดินทางไปประเทศที่สาม แต่เพียงไม่ต้องการกลับประเทศบ้านเกิด เพราะกลัวภัยอันตราย และไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมเข้ารับการฝึกอบรม ขณะนี้มีผู้เข้าอบรม 2 รุ่น และส่งไปสหรัฐอเมริกาแล้ว 3 คน ยังไม่มีงานทำ แต่อยู่ในระหว่างช่วยเหลือ

นายเจมส์ ลินซ์ รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาขอพักอาศัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวชายแดนประเทศไทยว่า ขณะนี้มีการลงทะเบียน จำนวนกว่า 102,000 คน มาจากประเทศพม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ส่วนใหญ่มาจากพม่า ยูเอ็นเอชซีอาร์ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและคนไทย ที่เปิดโอกาสให้เข้ามาดำเนินกิจกรรมในประเทศ คือ ให้การคุ้มครองระหว่างประเทศแก่ผู้ลี้ภัยเหล่านั้น ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 ขณะนี้ได้ริเริ่มโครงการฝึกอบรมเตรียมความพร้อม ให้ผู้ลี้ภัยเหล่านั้น เพื่อที่จะไปประกอบอาชีพเมื่อย้ายไปอยู่ประเทศที่สามได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและองค์การพัฒนาภาคเอกชน หรือเอ็นจีโอ ขณะนี้ได้ส่งผู้ลี้ภัยที่ผ่านการอบรมไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว 3 คน จากจำนวนผู้เข้าอบรม 19 คน ในชุดแรก แต่ขณะนี้ทั้ง 3 คนยังไม่มีงานทำ แต่มีเจ้าหน้าที่ประสานงานในสหรัฐอเมริกาคอยให้การช่วยเหลือประสานงานต่อไป

ด้านนายไซมอน แมธทิว ผู้จัดการทั่วไปบริษัทแมนพาวเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เอกชนที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือจัดฝึกอบรมให้ผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ชายแดนไทย-พม่า ใน จ.ตาก กล่าวว่า เริ่มเข้ามาทำงานกับยูเอ็นเอชซีอาร์ตั้งแต่ 3 ปีก่อน โดยมีโซอา หน่วยงานระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัย ทำงานด้วย โครงการแรกได้อบรมผู้ลี้ภัยชาวพม่าแล้ว 19 คน เป็นเวลา 6 สัปดาห์ และ 3 คน ได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกาแล้ว ส่วนโครงการที่ 2 ได้คัดเลือกผู้ลี้ภัย 45 คน เพื่อเข้าฝึกอบรม ในการอบรมใช้เวลา 6 สัปดาห์ สอนให้ผู้ลี้ภัยเรียนรู้ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในสหรัฐอเมริกา นอกจากการสอนภาษาอังกฤษแล้ว ยังสอนการรายงานความคืบหน้าของงานต่อหัวหน้างาน การซื้ออาหารในโรงอาหาร การวางตัวอย่างเหมาะสมต่อเพื่อนร่วมงาน การใช้เครื่องมืออุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

นายไซมอน กล่าวอีกว่า การคัดเลือกผู้ลี้ภัยในพื้นที่พักฟื้น ที่จะเข้ามาอบรมนั้น ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ลี้ภัยที่พร้อมจะเดินทางไปอยู่ประเทศที่สามหรือไม่ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมไป ต้องเข้าใจว่า บางคนไม่รู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร บางคนเห็นลิฟต์ก็ตื่นเต้น ผู้ลี้ภัยไม่ได้ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศทุกคน แต่บางคนไม่อยากกลับประเทศ เพราะกลัวภัยอันตรายในประเทศ

นายเจมส์ ยังกล่าวถึงขั้นตอนเมื่อผู้ลี้ภัยเดินทางไปสหรัฐอเมริกา จะไปในฐานะผู้ลี้ภัยและพักอาศัยในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปีก่อน จากนั้นสมัครขอวีซ่าเป็นประชากรในสหรัฐ ตามกระบวนการจะใช้เวลาตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป ขึ้นอยู่แต่ละบุคคล จำนวนของผู้ลี้ภัยที่อพยพจากประเทศตนเองมาขอพำนักในพื้นที่พักฟื้นนั้น มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นโดยตลอด แต่ยูเอ็นเอชซีอาร์มีความหวังว่า หากได้รับการฟื้นฟูช่วยเหลือแล้ว พวกเขาเหล่านั้นจะกลับไปช่วยพัฒนาประเทศของตน แม้บางคนจะไม่กลับประเทศ แต่ก็กลับมาทำงานเอ็นจีโอ ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่มาจากประเทศของตน.

สำนักข่าวไทย