Skip to main content

ภาษา

 

แองเจลิน่า โจลี ทูตพิเศษฯ UNHCR สรุปภารกิจการลงพื้นที่ที่ประเทศบังคลาเทศ

 

แองเจลิน่า โจลี ทูตพิเศษฯ UNHCR สรุปภารกิจการลงพื้นที่ที่ประเทศบังคลาเทศ และเรียกร้องความช่วยเหลือที่ยั่งยืนและขอให้ประเทศเมียนมาร์มีมาตราการยุติการพลัดถิ่นและภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติแก่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 

ค่ายผู้ลี้ภัยชัคมากุล ประเทศบังคลาเทศ  แองเจลิน่า โจลี ทูตพิเศษฯ UNHCR พูดคุยกับหญิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตจากการถูกคุกคามทางเพศในประเทศเมียนมาร์  © UNHCR/Santiago Escobar-Jaramillo
ค่ายผู้ลี้ภัยชัคมากุล ประเทศบังคลาเทศ แองเจลิน่า โจลี ทูตพิเศษฯ UNHCR พูดคุยกับหญิงผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่รอดชีวิตจากการถูกคุกคามทางเพศในประเทศเมียนมาร์ © UNHCR/Santiago Escobar-Jaramillo


สัปดาห์ที่ผ่านมา แองเจลิน่า โจลี ทูตพิเศษฯ กล่าวว่า โลกจะต้องไม่หันหลังให้กับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเกือบ 1 ล้านคน ที่หนีเอาชีวิตรอดมายังประเทศบังคลาเทศ เธอเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือพวกเขาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งรัฐบาลเมียนมาร์แสดงความร่วมมือเพื่อยุติวงจรความรุนแรงและการพลัดถิ่นที่ยาวนาน

ที่เมืองธากา เมืองหลวงประเทศบังคลาเทศ ผู้แทนพิเศษฯ เข้าพบกับนายกรัฐมนตรี Sheikh Hasina และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ AK Abdul Momen เพื่อแสดงความขอบคุณต่อประชาชนและรัฐบาลบังคลาเทศในความเมตตาและความช่วยเหลือที่มอบให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2560

เธอเน้นย้ำถึงความช่วยเหลือและความพยายามอย่างต่อเนื่องของ UNHCR เพื่อให้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญามีชีวิตอยู่ในประเทศบังคลาเทศอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และหาทางออกที่ยั่งยืนสำหรับพวกเขา

โจลี ยังแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการขยายโอกาสและความเข้มแข็งทางการศึกษาที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะอนาคตของเด็กๆ ชาวโรฮิงญาอาจตกอยู่ในความเสี่ยงที่เมืองธากา เธอได้เดินทางเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่รวมถึงเหตุการณ์การพลัดถิ่นครั้งใหญ่ของประเทศ 

โจลี เริ่มต้นการเดินทางทั้ง 3 วัน ในวันจันทร์ที่ค่ายผู้ลี้ภัยชัคมากุลและกูตูปาลอง โดยเธอได้รับฟังเรื่องราวจากผู้หญิง ผู้ชายและเด็กๆผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่ต้องทนทุกข์กับการถูกประหัตประหารและการแบ่งแยกตลอดมา ที่นั่นเธอได้ชมการทำงานและความพยายามในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ รวมถึงขั้นตอนการลงทะเบียนที่ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลบังคลาเทศและ UNHCR เพื่อมอบเอกสารทางกฎหมายเพื่อระบุตัวตนแก่ชาวโรฮิงญาเป็นครั้งแรก นอกจากนี้เธอได้เข้าเยี่ยมจุดผ่านแดนสำหรับผู้ลี้ภัยที่เดินทางมาถึงใหม่ และโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เด็กและผู้หญิง

นอกจากการดูงานและความช่วยเหลือที่ประสบความสำเร็จแล้ว โจลียังได้ร่วมสังเกตการณ์ปัญหาด้านการเข้าถึงทางการศึกษาของเด็กๆผู้ลี้ภัย เธอเรียกร้องให้มีความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่าเด็กๆ สามารถเข้าถึงการศึกษาที่เป็นระบบและได้รับการรับรอง  

วันอังคาร ทูตพิเศษฯ UNHCR แถลงข่าวในค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง ค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดและมีประชากรผู้ลี้ภัยหนาแน่นที่สุดในโลก เธอกล่าวว่าจนกว่าชาวโรฮิงญาจะสามารถเดินทางกลับมาตุภูมิได้โดยความสมัครใจ เรามีความรับผิดชอบร่วมกันในการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศบังคลาเทศได้อย่างมีศักดิ์ศรี

ก่อนการเดินทางเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยของ ทูตพิเศษฯ UNHCR ไม่นาน ในสัปดาห์ถัดมามีการประกาศจำนวนงบประมาณที่ขาดแคลนในแผนงานความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือ ปี พ.ศ. 2561 จัดทำโดย UNHCR และองค์กรพันธมิตร ซึ่งยังขาดงบประมาณอีกกว่า 920 ล้านดอลล่าร์ หรือราว 32,200 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาและชุมชนในพื้นที่ปีนี้

 

ความช่วยเหลือจากคุณคือความหวังของผู้ลี้ภัย บริจาคตอนนี้