Skip to main content

ภาษา

สำหรับลูกเสือสามัญกลุ่มนี้ การมาเข้าค่ายคือการได้กลับบ้าน

ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ประเทศไทย 29 กันยายน (UNHCR) อดีตเด็กผู้ลี้ภัยจำนวน 18 คนที่ได้รับโอกาสตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เดินทางกลับมาเยี่ยมญาติที่ยังอาศัยในค่ายแม่หละ จ.ตาก พวกเขายึดคำปฎิญาณว่า “จงเตรียมตัวให้พร้อม” แต่สมาชิกลูกเสือสามัญจากรัฐยูทาห์ ไม่ได้เตรียมตัวรับกับความรู้สึกต่างๆที่ท่วมท้นเมื่อพวกเขาได้พบญาติในค่ายผู้ลี้ภัยเลย พวกเขาเดินทางจากซอลท์ เลค ซิตี้ สหรัฐอเมริกาไปที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อร่วมงานลูกเสือโลก ก่อนที่จะเดินทางถึงกรุงเทพ และเดินทางด้วยรถบัสอีก 7 ชั่วโมงเพื่อไปยังจ.ตาก แม้ว่าจะเหนื่อยกับการเดินทางอย่างเห็นได้ชัดแต่สีหน้าของพวกเขาก็ไม่อาจซ่อนความตื่นเต้นของการรอคอยที่แสนนานนี้ได้เลย เพราะนี่คือเวลาที่พวกเขาจะได้พบกับญาติของพวกเขาอีกครั้งเป็นครั้งแรกหลังจากได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเกือบ 10 ปี

ใบหน้าของลวอย เซ อายุ 16 และลวอย เก ทูว อายุ 14 ปีเต็มไปด้วยความสดใสเมื่อพวกเขาได้พบน้า ธา ดา วาห์ อายุ 24 ปี “ฉันตื่นเต้นมาก มีความสุขมากจนอยากจะร้องไห้” เธอกล่าว หลังจาก7 ปีที่ไม่ได้พบหน้ากัน เด็กๆสูงกว่าเธอแล้ว แต่ลวอย เก ทูวหลานคนเล็กยังคงเกาะแกะ และจับมือเธอตลอดเวลาที่พวกเขาเดินในค่าย

สองพี่น้องเดินทางมาไกล ไม่เพียงแต่ระยะทางแต่หมายถึงประสบการณ์ชีวิตอีกด้วย พวกเขาเกิดนอกประเทศของตนในค่ายแม่หละที่ถือเป็นโลกทั้งใบที่พวกเขารู้จัก ใช้ชีวิตประจำวันกับการไปโรงเรียน เล่น และทำการบ้านกับแม่ของตน พวกเขาใส่เสื้อผ้าเก่าที่ขาดรุ่งริ่ง ใส่รองเท้าแตะแต่ยังถือว่าตนเองโชคดีเพราะเด็กคนอื่นๆวิ่งเล่นด้วยเท้าเปล่า

ในเวลานั้น ความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธ์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่ายังคงต่อเนื่องและผู้ลี้ภัยมีแนวโน้มที่จะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในค่ายในประเทศไทย ในปีพ.ศ.2548UNHCRจึง ริเริ่มโครงการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 เพื่อมอบอนาคตให้ผู้ลี้ภัยในค่าย

“พ่อแม่ผมตัดสินใจสมัครไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพราะเขาหวังให้ผม และพี่น้องมีการศึกษาที่ดี และมีชีวิตที่ดีขึ้น แอ เน ลา อายุ 17 ปี หนึ่งในสมาชิกลูกเสือสามัญกล่าว

“เราเคยถามพ่อกับแม่ว่า อนาคตเราจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขามักจะตอบว่าไม่รู้” ลวอย เก ทูว กล่าว

แอ เน ลา โชว์รูปชีวิตของเขาที่สหรัฐอเมริกาให้ยายของเขาดูที่ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ © UNHCR/P Tonjunpong
แอ เน ลา โชว์รูปชีวิตของเขาที่สหรัฐอเมริกาให้ยายของเขาดูที่ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ © UNHCR/P Tonjunpong

ชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ง่ายในช่วงแรก หลายคนต้องดิ้นรนปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ วัฒนธรรม และภาษาที่แตกต่าง พี่น้องตระกูลลวอย ฝึกภาษาอังกฤษจากการดูการ์ตูน ขณะที่ แอ เน ลา ฝึกภาษาจากการฟังครูสอน ในที่สุดเด็กกลุ่มนี้ก็เข้าร่วมกิจกรรมลูกเสือสามัญของรัฐยูทาห์ ที่ประกอบไปด้วยอดีตผู้ลี้ภัยจำนวน 100 คน โดยทำงานอาสาสมัครทุกสัปดาห์ และช่วยเหลือคนไร้บ้านในบริเวณชุมชนที่พวกเขาอาศัย

“การตั้งถิ่นฐานที่อเมริกาให้ชีวิตใหม่ ให้อิสรภาพ สิทธิ การศึกษาที่ดีขึ้น และสวัสดิการ ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าเรายังอาศัยในค่าย หากไม่มีโครงการนี้ ผมคงแต่งงานก่อนวัยอันควร หรือทำตัวเหลวไหลไปแล้ว” ลวอย เซ กล่าว พร้อมยอมรับว่าตัวเองดื้อ และโดนตามใจในอดีต

แอ เน ลาเห็นด้วย “ผมรู้สึกขอบคุณที่ได้รับชีวิตใหม่ หากไม่มีการสนับสนุนจาก UNHCR ประเทศที่รับผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐาน และผู้บริจาค ผมคงจะยังเก็บข้าวโพดกับยายในค่ายอยู่จนถึงทุกวันนี้”

นอกเหนือไปจากคำขอบคุณแล้ว เด็กๆยังคงคิดถึงและเป็นห่วงญาติๆที่ค่ายอย่างเห็นได้ชัดซึ่งรวมถึงปู่ย่าตายายของพวกเขาที่อายุมากเกินกว่าที่จะพร้อมเดินทางไปเริ่มชีวิตใหม่ที่อื่นอีกแล้ว รวมถึงญาติคนอื่นๆที่เลือกที่จะอยู่ที่ค่าย หรือไม่ได้รับสิทธิในการรับโอกาสเพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการลงทะเบียนจึงไม่มีสิทธิเพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ตามกฎหมายไทย

ธา ดา วาห์ น้าของพี่น้องตระกูลลวอยเลือกที่จะอยู่ที่นี่เนื่องจากเธอได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่เธอได้รับเพื่อใช้สอนให้กับเด็กนักเรียนในค่ายแม่หละต่อไป

เฮ โซ วัย 16 ปีที่หน้าห้องเรียน โรงเรียนในค่ายแม่หละ “สักวันหนึ่งผมจะกลับมาเป็นคุณครูที่นี่ ผมอยากจะทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย” © UNHCR/P Tonjunpong
เฮ โซ วัย 16 ปีที่หน้าห้องเรียน โรงเรียนในค่ายแม่หละ “สักวันหนึ่งผมจะกลับมาเป็นคุณครูที่นี่ ผมอยากจะทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย” © UNHCR/P Tonjunpong

 

แม้ว่าจะได้รับโอกาสให้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่และมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม แต่ความรู้สึกของการเป็นผู้ให้ของพวกเขานั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ลวอย เซ ยังหวังที่จะกลับมาเป็นคุณครูที่ค่ายแม่หละถ้าเขาเรียนจบชั้นมัธยมปลายในอีก 2 ปีข้างหน้า

เฮ โซ วัย 16 ปี อีกหนึ่งเด็กผู้ลี้ภัยของกลุ่มมีสีหน้าคิดถึงช่วงเวลาเก่าๆขณะเดินเยี่ยมโรงเรียนและกล่าวว่า “สักวันหนึ่งผมจะกลับมาเป็นคุณครูที่นี่” ด้วยน้ำเสียงและสายตาที่มุ่งมั่น “ผมอาจจะสอนวิชาคณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์เพราะผมชอบ 2 วิชานี้ และผมอยากจะทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยในประเทศไทย”

มีผู้ลี้ภัยชาวพม่าเกือบ 100,000 คน ที่ได้รับโอกาสตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาตั้งแต่พ.ศ 2548 และอีกประมาณ 110,000 คนที่ยังอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งที่ชายแดนไทย-พม่า

เรื่องโดย กรพินธิ์ สันตโยดม และ ปฐมาวรรณ ตันจันทร์พงศ์ จากค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ ประเทศไทยฯ