Skip to main content

ภาษา

 

ผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาเดินทางกลับบ้าน หลังพักพิงอยู่ในประเทศไทยนานหลายสิบปี

 

ผู้ลี้ภัยจากประเทศเมียนมาเดินทางกลับบ้าน
หลังพักพิงอยู่ในประเทศไทยนานหลายสิบปี

ผู้ลี้ภัยราว 300 คน กำลังเดินทางกลับไปยังทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา ในจำนวนนี้มีหนึ่งครอบครัวที่ต้องเป็นผู้ลี้ภัยถึง 4 รุ่น

 

คุณทวดปรี อายุ 82 ปี ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา เดินทางออกจากพื้นที่พักพิงชั่วคราว บ้านแม่หละ จ.ตาก © UNHCR/Rungtiva Karphon
คุณทวดปรี อายุ 82 ปี ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา เดินทางออกจากพื้นที่พักพิงชั่วคราว บ้านแม่หละ จ.ตาก © UNHCR/Rungtiva Karphon

 

คุณทวดปรี และคุณทวด ดี โนเอ รอคอยที่จะได้เดินทางกลับบ้านเกิด หลังต้องลี้ภัยและพักพิงอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทยนาน 30 ปี

“ตอนที่เราหนีจากบ้านในเมียนมา สถานการณ์ที่นั่นไม่ดีเท่าไหร่” คุณทวดปรี ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง อายุ 82 ปี เล่า “ตอนนั้นมีการต่อสู้อยู่เต็มไปหมด เราอาศัยหลบภัยอยู่ในป่าและต้องย้ายหนีไปเรื่อยๆ”

ทั้งสองหนีมายังประเทศไทยเพื่อเอาชีวิตรอดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธและทหารเมียนมา พวกเขาเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยราว 96,000 คน ที่พักพิงอยู่ในค่ายที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่ง ตามบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดงและกลุ่มชาติพันธุ์พม่า

คุณทวดปรี คุณทวดดี โนเอ และครอบครัวเข้าร่วมโครงการการเดินทางกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจร่วมกับผู้ลี้ภัยอีกราว 300 คน ในเดือนกรกฎาคม ครอบครัวของคุณทวดวางแผนขั้นต้นว่าจะเริ่มต้นชีวิตใหม่โดยไปอาศัยอยู่กับน้องสาวของคุณทวดปรี และญาติๆ ในรัฐกะเหรี่ยง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ

“ผู้ลี้ภัยจำนวนมากพักพิงอยู่ในค่ายนานหลายสิบปี”

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นปีที่โครงการการให้ความช่วยเหลือในการเดินทางกลับมาตุภูมิได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยกว่า 700 คนเดินทางกลับเมียนมา นำโดยรัฐบาลจากทั้งสองประเทศ สนับสนุนโดย UNHCR และองค์กรพันมิตร

ผู้ลี้ภัยเหล่านี้หนีมายังประเทศไทยและพักพิงอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวซึ่งตั้งขึ้นช่วงกลางทศวรรษ ระหว่าง ปี พ.ศ. 2523-2532 และขยายเป็น 9 แห่ง ภายใต้การดูแลโดยรัฐบาลไทย โดยมี UNHCR สนับสนุนการเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งรวมไปถึงการเข้าถึงการทะเบียน การสนับสนุนโครงการคุ้มครองเด็ก และโครงการแก้ปัญหาและป้องกันความรุนแรงทางเพศ

“ผู้ลี้ภัยจำนวนมากพักพิงอยู่ในค่ายนานหลายสิบปี” คุณอัตซึโกะ ฟุรุกาวา เจ้าหน้าที่ประสานงานอาวุโส ประจำสำนักงาน UNHCR จังหวัดตาก เน้นย้ำว่าสถานการณ์และการที่ต้องพักพิงในค่ายผู้ลี้ภัยเป็นเวลานานทำให้ผู้ลี้ภัยรุ่นใหม่ไม่สามารถเติบโตเต็มศักยภาพและศักดิ์ศรีได้

  • ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเดินทางออกจากที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก © UNHCR/Jennifer Harrison

  • ผู้ลี้ภัยจากเมียนมารับข้อมูลก่อนออกเดินทางจากเจ้าหน้าที่ UNHCR © UNHCR/Jennifer Harrison

  • คุณทวดปรี ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา อายุ 82 ปี เดินทางออกจากที่พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ ในอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก © UNHCR/Caroline Gluck

  • ขบวนพาหนะพาผู้ลี้ภัยจากเมียน เดินทางออกจากที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ ในอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก © UNHCR/Rungtiva Karphon

“การเดินทางกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจเป็นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืน แต่ไม่ใช่หนทางเดียว UNHCR ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา เพื่อแสวงหาทางออกต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย”

ซึ่งทางออกดังกล่าวอาจรวมถึงการผลักดันโอกาสและการเข้าถึงการจ้างงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยภายใต้เงื่อนไข”

UNHCR ให้ความช่วยเหลือในการเดินทางกลับแก่ครอบครัวที่เข้ามาติดต่อโดยตรง เริ่มจากการแจ้งให้ทราบถึงความต้องการในการเข้าร่วมโครงการการเดินทางกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจ โดยก่อนการเดินทาง UNHCR และองค์กรพันธมิตรจะลงพื้นที่ที่เปิดให้ผู้ลี้ภัยเดินทางกลับร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่ นำข้อมูลจริงและเป็นกลางถ่ายทอดแก่ผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนร่วมโครงการเพื่อประกอบการตัดสินใจในการเดินทางกลับ

คุณทวดปรี เล่าว่า ครอบครัวของเธอ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัย 35,000 คน ที่พักพิงอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่หละ รู้สึกปลอดภัยและได้รับการดูแลอย่างดีในประเทศไทย แต่หลังจากผ่านไปหลายปี และได้ทราบข่าวจากน้องสาวว่าสถานการณ์ที่บ้านดีขึ้น คุณทวดจึงมีความตั้งใจที่จะเดินทางกลับ “มันอาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ผู้คนพูดว่าสถานการณ์ดีขึ้นกว่าก่อนหน้านี้”

“ผมต้องการกลับไปเมียนมาเพราะต้องการใช้ชีวิตที่เหลือที่นั่น” คุณทวดดี โนเอ อายุ 96 ปี เล่า “ผมจะสามารถพึ่งพาครอบครัว เลี้ยงสัตว์เพื่อเลี้ยงชีพ เป็นเรื่องดีสำหรับเด็กๆ เช่นกันที่จะได้กลับบ้าน”

“ผมต้องการกลับไปเมียนมาเพราะต้องการใช้ชีวิตที่เหลือที่นั่น”

ขณะที่คุณทวด ดี โนเอ คุณทวดปรี และลูกสาว มู ฮทเว  อายุ 41 ปี เกิดในเมียนมา หลานๆ ทั้ง 5 คน และลูกของหลานๆ เกิดในแม่หละ พื้นที่พักพิงชั่วคราวที่ใหญ่ที่สุดในจำนวน 9 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

“ฉันดีใจที่เราได้รับอนุญาตให้พักพิงอยู่ในประเทศไทยนานหลายปี แต่ในฐานะผู้ลี้ภัย เราไม่สามารถทำอะไรได้มากเพราะมีข้อจำกัดในการเดินทาง” เธอเล่า “ที่นี่เราไม่มีโอกาสหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง”

มู ฮทเว  หวังว่าการทำงานอย่างหนักจะสามารถสร้างโอกาสและอิสระให้กับลูกๆ ทั้ง 5 คน ในเมียนมา และเธอมีความยินดีอย่างยิ่งเมื่อรู้ว่าครอบครัวจะได้รับสัญชาติ ทำให้พวกเขาเดินทางและทำงานได้อย่างอิสระ และสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นการรักษาพยาบาลและการศึกษา

ลูกชายของเธอ ปา ทา บา อายุ 22 ปี เกิดในแม่หละและมีลูกสาวหนึ่งคน เขารู้สึกเช่นเดียวกันว่าครอบครัวจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เขาจะได้รับโอกาสในการทำงาน

“ผมจะคิดถึงแม่หละ เพราะอยู่มานานและผูกพันผมเกิดและโตที่นี่ นี่คือทั้งหมดที่ผมรู้” เขาอธิบาย “แต่ผมมีความสุขที่จะได้ตามครอบครัวกลับบ้าน เพราะผมเชื่อว่าทุกอย่างจะดีขึ้นและการได้รับสัญชาติหมายถึงการมีอิสระภาพมากขึ้น”

 
ติดตามการทำงานของเรา:
Facebook: UNHCR Thailand
Line: @unhcrthailand