Skip to main content

ภาษา

นายทาดาชิ ยาไน ซีอีโอบริษัท บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัดบริจาค 1 ล้านเหรียญช่วยวิกฤตผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ

 

นายทาดาชิ ยาไน ซีอีโอบริษัท บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัดบริจาค 1 ล้านเหรียญช่วยวิกฤตผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ

© UNHCR/Vivian Tan

 

นายทาดาชิ ยาไน ประธานและซีอีโอ บริษัท บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด  บริษัทแม่ของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น คือ ยูนิโคล่ (UNIQLO) บริจาคจำนวน 1 ล้านเหรียญ ให้สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อช่วยชีวิตชาวโรฮิงญาซึ่งลี้ภัยไปยังประเทศบังกลาเทศ 

 

xxxx

 

สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้รับเงินบริจาคจำนวน 1 ล้านเหรียญจาก นายทาดาชิ ยาไน ประธานและซีอีโอ บริษัท บริษัท ฟาสต์ รีเทลลิ่ง จำกัด  บริษัทแม่ของแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น คือ  ยูนิโคล่ (UNIQLO) เงินที่ได้รับการสนับสนุนจากนายทาดาชิ ยาไน จะถูกใช้เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเร่งด่วนเพื่อช่วยชีวิตชาวโรฮิงญาซึ่งลี้ภัยไปยังประเทศบังกลาเทศ

ปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยมากว่า 412,000 คน (สถิติ ณ วันที่ 18 สิงหาคม) ที่เดินทางลี้ภัยเข้าไปในประเทศบังกลาเทศ นับตั้งแต่เกิดความรุนแรงทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ประเทศพม่า ในวันที่ 25 สิงหาคม 2017 UNHCR เป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในค่ายผู้ลี้ภัยนายาพารา (Nayapara) และค่ายกูตูปาลอง (Kutupalong) และส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเร่งด่วนเพื่อช่วยชีวิต เช่น ที่พักพิงชั่วคราว อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และความช่วยเหลือหลักด้านอื่น ๆ

นายทาดาชิ ยาไน และ ยูนิโคล่ (UNIQLO) ได้ให้การสนับสนุนผู้ผลัดถิ่นและ UNHCR นับตั้งแต่ปี 2006 ในฐานะนักธุรกิจซึ่งมีอิทธิพลระดับโลก  นายทาดาชิ ยาไน มีส่วนร่วมในการรณรงค์และระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากภาคธุรกิจ รวมทั้งการบริจาคเงินส่วนตัวให้กับ UNHCR และ ภายใต้การนำของเขาและความมุ่งมั่นในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทำให้ยูนิโคล่ (UNIQLO) ได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนผู้ลี้ภัยและ UNHCR

ยูนิโคล่ (UNIQLO) เป็นพาร์ทเนอร์ระดับโลกองค์กรแรกจากเอเชียในปี 2011 การสนับสนุนของบริษัทฯ มีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การสนับสนุนเสื้อผ้า (In-kind donation) ซึ่งบริจาคโดยลูกค้าของยูนิโคล่ การจ้างงานผู้ลี้ภัยในเอเชียและยุโรป การสนับสนุนการรณรงค์ของ UNHCR และการสนับสนุนด้านการเงิน เพื่อพัฒนาอาชีพสำหรับผู้ลี้ภัยในเอเชีย และ เหตุการณ์วิกฤตต่าง ๆ ยูนิโคล่ ได้บริจาคเสื้อผ้าให้กับชาวโรฮิงยาในประเทศบังคลาเทศ ทุก ๆ ปีนับตั้งแต่ปี 2012 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 47,000 ชิ้น และ ยังได้จ้างงานชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นในร้านของ ยูนิโคล่ อีกด้วย

เคลลี่ ที. คลีเมนต์ รองข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “การสนับสนุนของนายทาดาชิ ยาไน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ยิ่งใหญ่ของ UNIQLO ในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ความเมตตาของ นายทาดาชิ ยาไน มีความสำคัญอย่างมากในการให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วต่อวิกฤตด้านมนุษยธรรมในประเทศบังคลาเทศ นายทาดาชิ ยาไน และ ยูนิโคล่ (UNIQLO) เป็นตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่และเป็นผู้นำในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างสร้างสรรค์ และ เราหวังว่าองค์กรภาคธุรกิจอื่น ๆ จะเข้ามามีส่วนร่วมและดำเนินรอยตาม วิกฤตครั้งนี้ไม่สามารถจัดการได้ด้วยรัฐหรือองค์กร ๆ เดียว และจำเป็นต้องได้ความร่วมมือจากทุก ๆ คน รวมทั้งภาคธุรกิจ”

ผู้ลี้ภัยจำนวนมากเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศบังคลาเทศทุก ๆ วัน และผู้คนจำนวนมากต้องเดินทางข้ามทุ่งนาและป่าเพื่อข้ามชายแดนไปยังตอนใต้ของประเทศบังคลาเทศ และคนจำนวนมากต้องเสี่ยงชีวิตลี้ภัยทางเรือผ่านทางอ่าวเบงกอล ผู้ลี้ภัยที่เดินทางไปประเทศบังคลาเทศครั้งนี้ มีจำนวนมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับตั้งแต่ปี 1990

UNHCR ยังขาดแคลนงบประมาณอีกมาก บริษัท หรือองค์กรที่สนใจบริจาคเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแบบเร่งด่วน กรุณาติดต่อเจ้าหน้าที่พัฒนาความร่วมมือภาคเอกชน (นายไสว ศรีไสย) โทรศัพท์ 02 288 2880

 

จุดประกาย: “สงครามและน้ำใจ” ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

 

จุดประกาย: “สงครามและน้ำใจ” ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

 

“สงครามและน้ำใจ” ของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ถ้าเรื่องผู้ลี้ภัยทำได้มากกว่าแค่รับฟัง เขาคืออีกคนที่อยากชวนให้เราทำอะไรบางอย่าง

 “In peace sons bury their fathers. In war fathers bury their sons” (เฮอรอโดทัส)

“War is young men dying and old men talking” (แฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์)

“Only the dead have seen the end of war” (เปลโต)

คำพูดทั้งหมดดูจะสรุปไปในทางเดียวกัน คือ สงครามมีแต่ความสูญเสีย

ในยามสันติคงต้องเป็นลูกชายเท่านั้นที่ควรฝังศพพ่อของเขา ตรงข้ามกับช่วงสงครามที่อาจเป็นฝั่งพ่อเสียเองที่ต้องจัดการร่างของลูกชาย สงครามคือสิ่งที่คนแก่สร้างเพื่อให้คนหนุ่มต้องไปตาย และคงมีแต่การตายเท่านั้นที่เป็นจุดจบของสงครามที่แท้จริง

ไม่ว่ามันจะมีจุดเริ่มต้นและขยายขอบเขตไปถึงเรื่องใดบ้าง แต่เรื่อง “ผู้ลี้ภัย” คือผลพวงหนึ่งของสงครามและความรุนแรงซึ่งเกิดในทุกพื้นที่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จึงริเริ่มโปรเจค“Namjai for Refugees”เพื่อช่วยระดมทุนช่วยเหลือผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลี้ภัยที่เปราะบางที่สุด อย่าง ผู้หญิง และเด็ก

ในประเทศไทยโปรเจคนี้ถูกริเริ่มเมื่อปีก่อน โดยมีคนดัง อาทิ สหรัถ สังคปรีชา, นิรุตติ์ ศิริจรรยา, ครอบครัววรรธนะสิน ฯลฯ เข้าร่วมด้วย และระหว่างที่โปรเจคดำเนินไป ในปีนี้ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล นักเขียนหนุ่ม นักทำสารคดี และนักเดินทางได้เข้ามาร่วมด้วย ก่อนที่สุดสัปดาห์ที่ผ่านมาหมาดๆ เขาเพิ่งเสร็จจาก Talk Show “สงคราม และน้ำใจ” ซึ่งสะท้อนประสบการณ์จากการได้ไปเยือนผู้ลี้ภัยในค่าย ไม่ว่าจะเป็นค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทย หรือค่ายผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ

ก่อนขึ้นพูดไม่กี่ชั่วโมง วรรณสิงห์ บอกว่า เป็นเรื่องยากมากๆ ที่จะอธิบายถึงสงครามในทุกมิติ หรือตอบคำถามว่าอะไรคือการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยได้ดีที่สุด แต่ประเด็นหนึ่งที่เราสามารถผลักดันร่วมกันได้ในฐานะมนุษย์โลกคือการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ลี้ภัยที่อยู่ในที่พักพิงชั่วคราวในประเทศไทยตามแถบชายแดนไทย-พม่า ซึ่งในจำนวนนับแสนคนนี้มีทั้งที่เป็นเด็ก สตรี เป็นบุคคลที่มีศักยภาพไม่ต่างจากเราๆท่านๆ ทว่ากลับไม่เคยได้รับโอกาสแม้แต่จะออกนอกพื้นที่พักพิงชั่วคราวด้วยซ้ำ และจากนี้ไปคือบทสนทนาระหว่างเรากับวรรณสิงห์ ถึงเรื่องผู้ลี้ภัย การเดินทาง และมุมมองผ่านการทำงาน

 

คุณเป็นคนทำสารคดี เป็นนักเขียน แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้ เราเริ่มเห็นคุณบนเวที ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองบ้างไหม

จริงๆไม่ได้เยอะขนาดนั้น และผมไม่ได้มองตัวเองเป็นนักพูด นี่อาจเป็นงาน Talk เดี่ยวงานแรก ที่จัดกันจริงๆจังๆ ด้วยซ้ำและผมก็ไม่ได้จัดเอง อย่าง TEDx Bangkok หรือตามมหาวิทยาลัยที่เขาเชิญเราไปพูดเพราะเราทำงานหลักของเราคือการทำสารคดี เขียนหนังสือมากกว่า นี่ยังเป็นงานหลัก แต่ถึงอย่างไรผมก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นเฉพาะนักทำสารคดีหรือนักเขียนเท่านั้น ผมมองตัวเองเป็นผู้ผลิตคอนเทนท์ ไม่แน่ว่ามันจะไปอยู่ใน นิทรรศการ ภาพยนตร์ หรือนิยายก็ได้ ถามว่าเปลี่ยนแปลงไหม ก็ไม่นะ มันเป็นการพัฒนามากกว่า แล้วบังเอิญสิ่งที่ผมทำ สถานที่ที่ผมเดินทางไปอาจมีคนเคยไปมาแล้วไม่กี่คน ผมจึงได้รับโอกาสมากหน่อย

คุณมาร่วมกับโปรเจคนี้ได้อย่างไร และทำอะไรบ้าง

ผมว่าคนเราถึงจุดหนึ่งในชีวิต หลังจากเลี้ยงดูตัวเอง ทำงานที่ฝันแล้ว เราก็อยากให้การทำงานของเรามีประโยชน์สูงสุดในทางหนึ่ง หรือทำอะไรให้สังคมบ้างเป็นปกติ และผมเองก็รู้สึกว่าประเด็นที่ตัวเองรู้สึกร่วมที่สุดในโลกใบนี้คือความขัดแย้งและสงคราม ทั้งในแง่การพยายามสร้างความเข้าใจที่มาของความขัดแย้ง รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งเหล่านั้น

ในรอบหลายปีที่ผ่านมาสังคมเราอาจผ่านเรื่องความขัดแย้งมาบ้าง แต่ถ้าพูดในเรื่องสงครามนี่ ถ้าไม่นับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราอาจไม่รู้จักคำๆนี้เลย ทั้งที่ถ้ามองว่าเราไม่ได้เป็นแค่คนไทย แต่มองในฐานะมนุษย์โลก สงครามไม่เคยไกลจากเราเลย ผมมีโอกาสสัมผัสมันผ่านการเดินทาง ผ่านการทำสารคดีหลายครั้ง ทั้งในสถานที่ที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้ว กำลังดำเนินไป หรือกำลังเกิด แล้วรู้สึกเห็นอะไรบางอย่าง เห็นคนที่เดือดร้อน เห็นคนที่ต้องออกจากบ้าน เห็นคนที่สูญเสีย บางเรื่องแม้จะเกิดมานานแล้ว แต่เมื่อได้ไปนั่งฟัง ได้เห็นสีหน้า แววตา มันก็ทำให้เรารู้สึกมากกว่าที่เราติดตามจากข่าว นั่นคือจุดมุ่งหมายที่ผมทำและเผยแพร่ผ่านงานตัวเองมาตลอด

แล้วก็เป็นความบังเอิญส่วนหนึ่งที่เมื่อ UNHCR ให้โอกาส ผมก็ได้เข้ามาทำ มาทำสื่อ มาช่วยเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ ถ้าไม่มีองค์กรมาชวน บางทีเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะนำเงินบริจาคไปตรงไหน การเข้าไปพื้นที่ผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราเลยถือเป็นโอกาสที่จะเอาข้อมูลให้กับคน และทำในสิ่งที่เราคิดว่าทำได้

อะไรคือสิ่งที่คุณชอบในการทำงานครั้งนี้

อาจไม่ใช่แค่โปรเจคนี้ แต่จากการเดินทาง การศึกษาในประเด็นความขัดแย้งในโดยรวม สิ่งที่ผมชอบอย่างแรกคือทริปที่อันตรายที่สุดได้สอนอะไรให้เราเยอะที่สุด เช่น ที่ประเทศอัฟกานิสถาน ซึ่งที่แห่งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ลี้ภัยซึ่งหมายถึงผู้ที่ต้องการหลีกหนีจากพื้นที่สงครามเท่านั้น แต่มันหมายถึงมีผู้ที่ใช้ชีวิตในสงครามจริงๆเลย ต้องกินข้าว ดูหนัง ขณะที่อีกด้านก็มีเสียงระเบิด ผมประทับใจที่ได้เห็นความเป็นคน เห็นความเป็นมนุษย์ที่ลึกซึ้ง เช่นเดียวกับที่ซีเรีย อิรัก เราได้เห็นวัฒนธรรม ความสามารถ ความฉลาดเฉลียวของเขา ความคิดและความลึกซึ้งทางอารมณ์ของคน เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยเห็นผ่านสื่อเลย นั่นคือสิ่งที่เราชอบและอยากนำเสนอ

ในประเทศไทยผมได้มีโอกาสลงไปค่ายผู้ลี้ภัยที่ จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพรมแดนไทยพม่าและเป็นหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 ค่าย 4 จังหวัดตามแนวชายแดนฝั่งตะวันตกซึ่งได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และตาก

ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่สุรินทร์ที่ผมไป เป็นพื้นที่พักพิงชั่วคราวมากว่า 20 ปีแล้ว มีคนอยู่ที่นั่นประมาณ 2 พันคน เราได้เห็นเงื่อนไขชีวิตที่น่าสนใจและกระตุกเราหลายๆอย่าง เช่น บ้านที่เขาสร้างก็ต้องเป็นบ้านไม้ตลอด เพราะประเทศไทยไม่เคยลงนามเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951นั่นแปลว่าเราไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยแบบถาวรได้ บ้านที่เขาอยู่จึงเป็นได้แค่สิ่งปลูกสรา้งชั่วคราว บางคนเกิดในค่าย ติดอยู่ในบ้านเราเป็นสิบๆปี ไม่เคยออกไปนอกค่ายเลย นอกจากนั้นเราเห็นการทำงานของหน่วยงานซึ่งมักถูกวิจารณ์ เรื่องไหนดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่มันก็บอกว่ายังมีคนทำงานด้านนี้อย่างเอาจริงเอาจังอยู่ ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมชูประเด็นนี้ขึ้นมาแล้วเกิดการลงมือทำจริงๆ จะเล็กๆน้อยๆ อะไรก็ได้ที่ทำได้ มันดีกว่าการถกเถียงแต่ไม่มีการกระทำ ซึ่งมันจะเกิดประโยชน์ค่อนข้างน้อย

คนธรรมดาสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่างไรได้บ้าง

แน่เลยครับว่าสิ่งแรกคือเข้าใจและรับฟัง และต่อไปก็แน่นอนว่าคือเงินบริจาค คือเราไม่สามารถแก้สถานการณ์ทางการเมืองจากประเทศที่เขาจากมาได้ แต่สิ่งที่ UN ทำได้คือพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ผู้ลี้ภัยอยู่ได้ดีขึ้นในขณะที่เขาต้องอยู่ในสภาพเหล่านี้ เช่น สอนเรื่องการงานอาชีพ สอนหนังสือให้เด็ก หรือจัดเวิร์คชอปเรื่องคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ดูแลเด็กกำพร้าที่เกิดจากสงคราม ดูแลผู้สูงอายุ หรือขั้นตอนต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น การจดทะเบียนเกิดซึ่งเป็นเอกสารที่รัฐบาลไทยรับรองว่านี่เป็นคนพม่าที่เกิดในแผ่นดินไทย หรือส่งผู้หนีภัยการสู้รบกลับบ้านด้วยความสมัครใจ แบบที่เคยทำกับกลุ่มนำร่อง 71 คนซึ่งสำเร็จมาแล้ว รวมไปถึงส่งไปประเทศที่สาม อย่างสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ตามแต่นโยบาย อย่างไรก็ตามสถิติมันก็บอกว่าในจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลก จะมีเพียง 1% เท่านั้นที่สามารถลี้ภัยเพื่อไปขอาศัยและได้ทำงานในประเทศเหล่านี้ได้ ซึ่งถือว่าน้อยมาก

จากสถิติบอกเราว่าวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยตอนนี้ ถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดของโลกแล้ว โดยตัวเลขผู้ลี้ภัยกว่า 65.6 ล้านคน ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ และผู้ลี้ภัยเหล่านั้นมีไม่น้อยมีพรสวรรค์ ถ้าได้รับความช่วยเหลือ พวกเขาก็จะมีโอกาสเหมือนคนทั่วไปได้เพราะเมื่อเขามีศักยภาพ เขาก็จะช่วยเหลือตนเองและคนอื่นๆได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม

ในฐานะที่คุณเดินทางมามาก และมักชอบไปในสถานที่แปลกๆ หรือคนส่วนใหญ่มองว่าอันตราย คุณต้องการสื่อสารอะไร

เราไมได้เริ่มจากคนข้างนอก แต่เราเริ่มที่ว่าเราอยากรู้อะไร และที่คิดว่ามันเป็นPassion (ความหลงใหล) ไปจนแก่ คือความพยายามเข้าใจมนุษย์ ผมมองว่ามนุษย์อย่างเราๆ เมื่อเงื่อนไขรอบตัวเปลี่ยน ก็สามารถหยิบอาวุธได้โดยไม่คิดอะไรเลย หรือสามารถเอาผลประโยชน์ตัวเองเหนือความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์คนอื่นได้ มันเป็นมิติของความเป็นคนธรรมดา เราก็อยากจะเข้าใจว่าเงื่อนไขของความเปลี่ยนแปลงจากคนธรรมดามันอยู่ตรงไหน เราอยากเข้าใจมันก่อน แล้วลองคิดต่อว่ามีวิธีป้องกันเรื่องเหล่านั้นตรงไหนได้บ้าง

เคยมีคนถามว่าผมไปพื้นที่เหล่านี้รู้สึกกลัวบ้างไหม ผมก็ต้องตอบว่ากลัวครับ แต่ยิ่งทำมันก็ยิ่งเติมเต็มเรา คือโอเคแง่หนึ่งมันได้เห็นโลกกว้าง อะดรีนาลีนมันก็หลั่งแบบชีวิตลูกผู้ชาย(ยิ้ม) แต่ในเชิงประโยชน์มันก็ทำให้เรามองเห็นและเปิดโอกาสให้เราทำอะไรได้มากขึ้น คือตั้งแต่ทำรายการ เถื่อน Travel (รายการโทรทัศน์) ผมก็ได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องความขัดแย้งบ่อยมาก กับอีกเรื่องคือการสร้างพลังให้กับตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้สำหรับผมมันไม่ยากเพราะคิดว่าตัวเองมีมันอยู่แล้ว

จนถึงตอนนี้การเดินทางของวรรณสิงห์เป็นเรื่องของการงานและสังคม หรือ Passion ส่วนตัวกันแน่

คือส่วนตัวสัก 90% อย่าง เถื่อน Travel ผมทำโดยเริ่มต้นจากการไม่มีสปอนเซอร์ด้วยซ้ำ คือทำเพราะอยากทำ แล้วค่อยตระเวนขาย ตอนแรกยังไม่รู้จะชื่อรายการเลย พอขายได้แล้วหักค่าใช้จ่าย เงินเก็เหลือเข้าตัวเองแบบว่าอย่านับเลยดีกว่า (หัวเราะ) แต่มันแฮปปี้กับชีวิตครับ รู้สึกว่าได้ทำกับสิ่งที่ฝันมานานแล้ว ถ้ามองว่ามันเป็นการหาเลี้ยงชีพไหม ก็คงไม่ เพราะถ้าคิดว่าเลี้ยงชีพเราคงทำอย่างอื่นที่เสี่ยงตายน้อยกว่า สิ่งนี้มันเป็นการเลี้ยงชีวิตมากกว่า

คุณเคยบอกว่าความสุขของมนุษย์ควรจะประกอบไปด้วยการจัดความสัมพันธ์และพอใจกับ 3 สิ่งได้แก่ กับตัวเอง กับผู้อื่น และสัมพันธ์กับโลก ยังเชื่อเช่นนี้อยู่ไหม

ผมยังเชื่ออยู่นะ ความสัมพันธ์กับตัวเองก็คือเราซื่อสัตย์กับตัวเอง ความสัมพันธ์กับผู้อื่นคือเราไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองอย่างเดียวแล้ว แต่คือมีผู้อื่นซึ่งต้องเทคแคร์ในชีวิต และสัมพันธ์กับโลกซึ่งกว้างกว่าสองเรื่องแรก

ผมว่าถึงจุดหนึ่งในชีวิตทุกคนคงอยากมีประโยชน์กับสังคมทั้งนั้น อย่างน้อยๆ เขาก็จะไปวัดเพื่อบริจาคเงิน นั่นเพราะว่ามันไม่พออีกแล้วที่จะดูแลแค่ตัวเองหรือคนที่อยู่ในสายตา ผมว่าธรรมชาติมนุษย์พยายามจะเติมเต็มในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้ตัวเองมีความหมาย และถ้าถามกลับว่าทำไมผมยังทำรายการแบบนี้อยู่ ก็เพราะว่ามันได้ทำอะไรให้กับโลก และผมเชื่อว่าถ้าทำอะไรและมีโอกาสทำทุกคนก็จะทำในรูปแบบต่างๆกันไป สุดท้ายมันไม่ใช่เรื่องความสุข แต่มันคือความเติมเต็มมากกว่า คือผมไม่ต้องการอะไร วันเกิดมีคนถามว่าอยากได้อะไร เราก็รู้สึกว่าไม่อยากได้อะไร สิ่งที่ทำอยู่คือสิ่งที่อยากทำ แล้วก็ได้ทำแล้ว

ผู้หญิงแบบไหนครับที่คนอย่างคุณมองหา

ถึงวันนี้ผมก็อายุ 33 แล้ว คงไม่คิดอะไรมากกว่าความสบายใจแล้วละ เราอาจจะเคยวาดฝันต่างๆนาๆ แต่ความสบายใจคือสิ่งที่หายากมาก และถ้ามีได้ ก็ควรรักษามันไว้ดีๆ แค่นี้ดีกว่า

มองว่ากลุ่มคนที่ชอบคุณ ติดตามงานคุณคือคนกลุ่มไหน

คงต้องย้อนไปถึงสื่อที่ทำ คือผมทำสารคดีการเดินทางในมุมมนุษย์นิยม แล้วก็พยายามที่จะเข้าใจทุกพฤติกรรมของแต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย พฤติกรรมของฆาตกร โสเภณี พ่อค้าหนังโป๊ และสื่อที่เราอยากทำคือต้องการเข้าใจในทุกมุมว่าทำไมเขาถึงทำเช่นนั้น โดยที่จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ได้ และถึงแม้เราจะไม่เห็นด้วย แต่เราก็ไม่อยากให้ความไม่เห็นด้วยมาหยุดการที่เราจะเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้น

บางคนอาจจะมองว่าสื่อควรต้องเลือกข้าง หรือมีจุดยืนบ้างว่าอันนี้ถูก หรืออันนี้ผิด และมันก็มีประโยชน์เหมือนกัน แต่ผมก็มองว่าสื่อที่ชี้นำทางความคิดมันมีอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าถามว่ากลุ่มคนที่ดูผมคือใครก็คนที่ชอบแบบนี้โดยที่ไม่ได้ชี้ผิดชี้ถูก คนที่ชอบโต้แย้งหรือต้องการชี้ผิดชี้ถูกก็อาจจะไม่ชอบเรา แม้จะเป็นริเบอรัล หรือคอนเซอร์เวทีฟก็ตาม

ตัวอย่าง เช่น ตอนผมไปเกาหลีเหนือผมก็พยายามเข้าใจระบบ เข้าใจมุมมองของคนที่นั่นว่าเขาคิดอย่างไร ฝั่งที่ริเบอรัล ก็คงไม่ชอบ ว่าทำไมผมถึงไม่ประณามประเทศนี้ หรืออย่างตอนที่ผมเห็นใจคุณไผ่ (ดาวดิน) ก็จะมีอีกฝั่งที่ด่าเรา ทั้งที่ในความเป็นจริง คือเราไม่ได้เห็นด้วยในทุกๆเรื่อง แต่เราเข้าใจความเป็นคนของพวกเขา

ความคิดแบบนี้ บางคนเรียกว่าโลกสวย เวลาคนบอกว่าวรรณสิงห์โลกสวยคุณคิดอย่างไรบ้าง

ก็ไม่คิดอะไรครับ คือถ้าคนที่เห็นสงคราม เห็นด้านมืดเหมือนเรา แล้วยังโลกสวยก็ต้องมีการมองโลกในแง่ดีสูงเท่าที่ควร (หัวเราะ) ซึ่งในแง่หนึ่งเรสก็คิดว่าโลกมันสวยจริงๆ คือการเดินทางไม่ได้เห็นแค่คน เราเห็นธรรมชาติด้วย วิวบางวิวเห็นแล้วแบบว่า “ให้ตายก็ไม่ลืม”  คือธรรมชาติมันสวยอยู่แล้ว ทุกคนรู้ดี แต่อีกมุมหนึ่งโลกสวยก็กลายเป็นวาทกรรมอีกแบบไว้ ตัดสินคนที่มีพื้นฐานในมุมมองที่ไม่พอดีกับกรอบที่คุณมีอยู่แล้ว แล้วก็เอาคำว่าโลกสวยมาครอบ ในเรื่องที่ไม่ตรงกับชุดความคิดของคุณ ดังนั้นการที่ผมมีคำว่าโลกสวยมาครอบในบางครั้ง แปลว่าความเห็น ท่าทีของผม มันไม่ตรงกับคนบางคน ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติมาก เพราะมันก็ไม่จำเป็นต้องตรงกันอยู่แล้ว แต่ว่าการที่เขาตอบโต้กลับมาด้วยคำว่าโลกสวยอย่างเดียวมาครอบ โดยที่ไม่มีความหมายอะไรเลย มันก็แค่จะบอกว่าความเห็นนี่มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลในมุมของเขา

ไม่รู้สึกอะไรเลยถ้าใครจะว่าคุณโลกสวย

เอาเป็นว่า เราทำงานเต็มที่แล้ว ใครจะว่าอย่างไรก็ตามสบาย แต่ทั้งนี้สำหรับเถื่อน Travel ในซีซั่นแรกฟีดแบ็คมันก็เป็นบวกมากกว่าลบ ผมก็ได้ยินด้านลบมาครั้งเดียวคือในตอนเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ เราทำในพื้นที่สาธารณะ มานานเราก็ต้องรับฟัง แต่ให้ต้องมานั่งเครียด คงไม่แล้ว

 

 

สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: http://www.judprakai.com/life/283

The Momentum: สงครามและผู้ลี้ภัย - เข้าใจด้วยสมอง สัมผัสด้วยหัวใจกับ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’

 

The Momentum: สงครามและผู้ลี้ภัย - เข้าใจด้วยสมอง สัมผัสด้วยหัวใจกับ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’

 

​สงครามและผู้ลี้ภัย - เข้าใจด้วยสมอง สัมผัสด้วยหัวใจกับ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’

 

        ไทยมีสุภาษิตอยู่บทหนึ่งว่า ‘ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญ’ อเมริกาเองก็มีคำพังเพยในทำนองเดียวกัน วรรณสิงห์ชวนเรากลับมาดูที่ปลายทางของสงคราม เมื่อคนที่ไม่มีส่วนร่วมในความขัดแย้งกลับเป็นผู้เดือดร้อนที่สุด

“ผมมีโอกาสสัมผัสกับผู้ลี้ภัยครั้งแรกจริงๆ คือตอนไปอัฟกานิสถาน ประเทศที่อยู่กับสงครามมาสี่สิบปีแล้ว อีกครั้งหนึ่งคือตอนที่ผมไปทำงานกับ UNHCR ที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านแม่สุรินทร์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเมืองไทยมีผู้ลี้ภัยพม่าอยู่ด้วยกันประมาณ 100,000 คน กระจายอยู่ตามค่ายผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามชายแดนพม่า-ไทย และ UNHCR ก็ได้ไปช่วยเหลือพวกเขา และสร้างคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

 

                             สถานะที่เราให้เขาได้คือเป็นผู้ลี้ภัยชั่วคราวก่อนเหตุการณ์จะสงบ

                                           แต่คำว่าชั่วคราวนี้ก็อยู่กันมาสามสิบปีแล้ว

 

​          “หลายคนรู้เรื่องที่พม่ามีความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงแดง เป็นความขัดแย้งซึ่งเป็นสงครามที่ยาวนานที่สุดในโลกคือ 70 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 1949 จนปัจจุบันก็ยังอยู่ในภาวะสงคราม เพราะตั้งแต่มีการตั้งประเทศขึ้นมาก็มีหลายชนเผ่าที่ต้องการสร้างดินแดนของตัวเอง และนำมาซึ่งความขัดแย้งมาถึงตอนนี้
​          “ความขัดแย้งนี้สร้างผู้ลี้ภัยขึ้นมามากมาย และอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองไทยมาสามสิบปีแล้ว บ้านในค่ายผู้ลี้ภัยต้องสร้างเป็นบ้านไม้ เพื่อให้สามารถรื้อถอนได้ง่าย เพราะทุกอย่างเป็นที่พักพิงชั่วคราวเท่านั้น ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย แปลว่าเราไม่สามารถรับผู้ลี้ภัยถาวรให้ย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเราในฐานะประชาชนของประเทศไทยได้ แต่ที่รับเข้ามาก็ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมต่อเนื่องกันมาหลายสิบปีแล้ว สถานะที่เราให้เขาได้คือเป็นผู้ลี้ภัยชั่วคราว ก่อนเหตุการณ์จะสงบ แต่คำว่าชั่วคราวนี้ก็อยู่กันมาสามสิบปีแล้ว เด็กแทบทุกคนที่เห็นในค่ายเขาเกิดในค่ายแห่งนี้ และตามกฎหมายคือพวกเขาไม่สามารถทำงานภายนอกค่ายได้ หรือเรียนหนังสือนอกค่ายได้ อยู่ได้แต่ตรงนี้เท่านั้น

   “สภาวะที่เขาต้องเจอก็คือ ผู้ชายหลายคนโดนจับไปเป็นแรงงานทาสในกองกำลังติดอาวุธของพม่า แล้วหนีตายกันมา ทรัพย์สิน ผลผลิต ที่ดิน ถูกยึดเอาไว้ทั้งหมด สถานการณ์ก็รุนแรงจนไม่สามารถกลับไปได้ สภาพของค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้มองเฉยๆ ก็เหมือนหมู่บ้านชนบททั่วไป แต่ลองนึกถึงหมู่บ้านที่ผู้อาศัยออกไปข้างนอกไม่ได้ มันก็คือคุกอย่างหนึ่ง เป็นคุกที่ไม่ได้เกิดจากการจำจองด้วยกฎหมาย แต่เกิดจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
​          “ค่ายผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นได้ยังไง โดยทางกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ให้ที่ดิน และค่ายเหล่านี้บริหารโดยเอ็นจีโอ ส่วน UNHCR ได้เข้าไปช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและบริหารค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วย มีการสอนอาชีพ สอนคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พ่อเสียชีวิตในสงคราม สอนอาชีพให้คนแก่คนเฒ่า ไปจนถึงกระบวนการที่สำคัญที่สุดคือกระบวนการย้ายถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม

​          “อีกด้านหนึ่งของ UNHCR คือการจดทะเบียนการเกิดให้กับเด็ก ไม่ใช่สูจิบัตร แต่เป็นการให้ประเทศไทยรับรองว่าเด็กคนนี้คือเด็กชาวพม่าที่เกิดในแผ่นดินไทย แปลว่าเขาไม่ได้สถานะเป็นประชาชนไทยหรือพม่า เป็นคนที่ไม่มีสัญชาติ แต่เขาสามารถเอาเอกสารนี้ไปยืนยันได้ว่าเขามีตัวตนอยู่จริง ในกรณีที่ได้กลับบ้านวันใดวันหนึ่งในอนาคต ถ้ารัฐบาลคืนสัญชาติคืนการเป็นประชาชนให้ เขาก็จะมีสิทธิต่างๆ ในฐานะพลเมืองพม่าคนหนึ่ง

 

 

“การเป็นผู้ลี้ภัย ถ้าจะจบได้ดีที่สุดคือเขาได้กลับบ้าน สองคือได้ไปตั้งรกรากในประเทศใหม่ มีอาชีพ มีสถานะเป็นประชาชนชัดเจน เรื่องการกลับบ้านก็ต้องขึ้นกับสถานการณ์ทางการเมืองที่บ้านเขาว่าจะเป็นยังไง ส่วนการได้ย้ายไปประเทศที่สามก็ขึ้นกับนโยบายเปิดรับผู้ลี้ภัยของประเทศที่สามว่าพวกเขายินดีจะรับไหม สถานการณ์การเมืองโลกตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง แม้จะทำงานหนักแค่ไหน แต่ข้อมูลผู้ลี้ภัยที่สามารถไปเริ่มต้นในประเทศใหม่ไม่ว่ายุโรป อเมริกา หรือออสเตรเลีย มีน้อยกว่าหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้ลี้ภัยทั่วโลก

​          “เราไม่สามารถหยุดความขัดแย้งได้ แต่ถ้าทุกท่านหันมาสนใจเรื่องสังคม เรื่องสงคราม เรื่องความขัดแย้งในใจที่อยู่ในตัวเราเองต่อสังคมที่อยู่ข้างนอก มันอาจจะช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างไปได้เรื่อยๆ”
​          Study War No More - เราจะหยุดเรียนรู้เรื่องสงครามกันได้หรือยัง ยังไม่มีใครตอบได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่วรรณสิงห์และ UNHCR กำลังทำอยู่ ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่ง ‘เสียง’ ที่ดังพอจะบอกให้คนรอบข้างได้ยิน และหันมาสนใจเพื่อนมนุษย์ที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามอย่างไม่มีโอกาสปฏิเสธเช่นผู้ลี้ภัยเหล่านี้

 

สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่: http://themomentum.co/wannasingh-talk-for-unhcr 

UNHCR เผยวิกฤตการณ์การศึกษาเด็กผู้ลี้ภัย

 

UNHCR เผยวิกฤตการณ์การศึกษาเด็กผู้ลี้ภัย

จอห์น ลูอิส เด็กผู้ลี้ภัยชาวซูดานใต้วัย 13 ปี ในห้องเรียนชั้นประถมต้นที่ Bidibidi Settlement ทางตอนเหนือของประเทศยูกันดา

 

กรุงเจนีวา: สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR เปิดเผยรายงานล่าสุด เกี่ยวกับวิกฤตการณ์การศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัย ที่ส่งผลให้เด็กผู้ลี้ภัยอายุระหว่าง 5 -17 ปี กว่า 3.5 ล้านคน ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในปีการศึกษาล่าสุด ซึ่งรวมถึงเด็กผู้ลี้ภัยกว่า 1.5 ล้านคนที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับประถมศึกษา ในขณะที่เยาวชนผู้ลี้ภัยอีกกว่า 2 ล้านคนขาดโอกาสศึกษาต่อในระดับมัธยม  

 

 

นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า “ขณะนี้มีผู้ลี้ภัยทั่วโลกกว่า 17.2 ล้านคนที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของ UNHCR ซึ่งครึ่งหนึ่งนั้นคือเด็ก การศึกษาสำหรับเด็กผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้กับประเทศที่ให้การดูแลพวกเขา รวมถึงประเทศของพวกเขาเองเมื่อพวกเขาสามารถเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดได้ในอนาคต ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนทั่วโลกแล้วนั้น ช่องว่างทางโอกาสในการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยก็มีแต่จะขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่เคยเป็นมากก่อน”    

รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” เป็นรายงานที่เปรียบเทียบระหว่างแหล่งข้อมูล และสถิติของ UNHCR เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาของผู้ลี้ภัย กับข้อมูลการสมัครเข้าศึกษาในโรงเรียนของเด็กทั่วโลก จาก UNESCO ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ โดยจากสถิติของ UNESCO นั้นแสดงให้เห็นว่าในขณะที่ร้อยละ 91 ของเด็กทั่วโลกได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับประถม หากแต่สำหรับเด็กผู้ลี้ภัยแล้วนั้น มีเพียงร้อยละ 61 เท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาในระดับเดียวกัน ยังไม่รวมถึงในประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งมีเด็กผู้ลี้ภัยน้อยกว่าร้อยละ 50 ที่ได้รับการศึกษาในระดับประถม   

สถิตินี้ยังชี้ให้เห็นอีกว่า ในขณะที่เด็กผู้ลี้ภัยเติบโตขึ้น อุปสรรคในการศึกษาก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบกับเยาวชนทั่วโลกที่ร้อยละ 84 ได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับมัธยม หากแต่สำหรับเยาวชนผู้ลี้ภัย มีเพียงร้อยละ 23 ที่ได้ศึกษาต่อในระดับเดียวกัน และจะเหลือเพียงแค่ร้อยละ 9 ในประเทศที่มีรายได้น้อย

นอกจากนั้นสถิติการได้รับโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของผู้ลี้ภัยก็ยังเข้าขั้นวิกฤต โดยจากสถิติทั่วโลกอัตราการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนนั้นอยู่ที่ร้อยละ 36 หากแต่สำหรับเยาวชนผู้ลี้ภัย ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาโอกาสทางการศึกษาในทุกๆด้าน ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนในเรื่องทุนการศึกษาและหลักสูตรการเรียนต่างๆ หากแต่อัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของเยาวชนผู้ลี้ภัยก็ยังคงอยู่ที่เพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

ปัญหาด้านการศึกษาของผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมโลกไม่สามารถบรรลุเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อ ที่ตั้งเป้าไว้ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยเฉพาะข้อที่ 4 ซึ่งกล่าวถึง “การรับรองการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยเป้าหมายนี้จะไม่สามารถบรรลุผลได้หากปัญหาด้านการศึกษาของประชากรที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งรวมถึงผู้ลี้ภัย และผู้ที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านของตนเองด้วยเหตุต่างๆ นอกจากนั้นเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านอื่นๆ เช่น ด้านสุขภาพ ความเจริญรุ่งเรือง ความเท่าเทียมกันในสังคม รวมถึง สันติภาพ ก็จะเป็นไปอย่างเชื่องช้า หากไม่ใส่ใจเรื่องการศึกษา 

 

  • นักเรียนในห้องเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนประถม Ofonze ใน Bidibidi refugee settlement ทางตอนเหนือของประเทศซูดานใต้

 

สำหรับรายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย”  ของ UNHCR เป็นการเปิดเผยข้อมูลเพื่อเรียกร้องให้การศึกษาของผู้ลี้ภัยกลายเป็นหนึ่งในพื้นฐานที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย รวมถึงควรได้รับการสนับสนุนในระยะยาว ทั้งในส่วนของแผนงานและเงินทุน รายงานนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมผู้ลี้ภัยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา ซึ่งควรมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อให้เกิดความเท่าเทียม และเป็นไปอย่างยั่งยืน รวมถึงเน้นย้ำความพยายามอย่างมาก ในการผลักดันและดำเนินแผนนโยบายเหล่านี้ แม้สำหรับในประเทศที่มีทรัพยากรจำกัด

ผลศึกษาจากรายงานยังแสดงให้เห็นว่า ความสำคัญของคุณภาพของการสอน รวมถึงการสนับสนุนจากเครือข่ายการศึกษาทั้งในและนอกประเทศ นั้นจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพัฒนาและฝึกฝนผู้สอนให้เกิดแรงจูงใจที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่ชั้นเรียนที่ลำบากที่สุดในโลกเหล่านี้ รายงานยังเปิดเผยเรื่องราวอันหลากหลายเกี่ยวกับบรรดาผู้ลี้ภัยซึ่งต้องดิ้นรนเป็นอย่างมากเพื่อให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา หรือผู้ลี้ภัยซึ่งรู้ซึ้งถึงความสำคัญของการศึกษาที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขา โดยในขณะนี้ จำนวนของครู ห้องเรียน หนังสือเรียน และระบบการศึกษาที่รองรับยังขาดแคลนอยู่มากเมื่อเทียบกับความต้องการที่มีอยู่   

รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย”  ฉบับนี้ถือเป็นรายงานประจำปีเกี่ยวกับการศึกษาฉบับที่สองของ UNHCR  โดยฉบับแรกที่มีชื่อว่า “สิ่งที่ขาดหายไปนั้นถูกนำเสนอก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ วาระเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งก่อให้เกิดปฏิญญานิวยอร์กว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ที่ลงนามโดยชาติสมาชิกกว่า 193 ประเทศ โดยถือเรื่องการศึกษาเป็นของผู้ลี้ภัย เป็นเรื่องเร่งด่วนระดับสากล   

“แม้ว่าปฏิญญานิวยอร์ก ว่าด้วยเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ จะได้รับการสนับสนุนอย่างมาก หากแต่ 1 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการศึกษาของ ผู้ลี้ภัยก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่เราต้องเผชิญอยู่” นายกรันดี ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “การรับรองว่าผู้ลี้ภัยจะสามารถเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาที่เท่าเทียมนั้น เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของเราทุกคน ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะช่วยกันเปลี่ยนคำมั่นที่ให้ไว้ร่วมกัน ให้กลายเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัย”

รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” ของ UNHCR ยังแสดงให้เห็นอีกว่า สถิติการเข้าศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยปฐมวัยนั้นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 50 เป็น ร้อยละ 61 ในช่วงปีการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงนโยบาย และการลงทุนเพื่อการศึกษาสำหรับผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย รวมถึงการที่เด็กผู้ลี้ภัยเดินทางไปยังประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งการศึกษาภาคบังคับนั้นเปิดกว้างสำหรับทุกคน หากแต่ในขณะเดียวกันการเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยมของผู้ลี้ภัยนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ไม่คืบหน้านัก โดยน้อยกว่า 1 ใน 4 ของเยาวชนผู้ลี้ภัยเท่านั้นที่ได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยม  

จากรายงานนั้นทำให้เห็นว่า ปัญหาที่ยังคงมีอยู่ในเรื่องการศึกษาของผู้ลี้ภัย หลัก ๆ แล้วเป็นเพราะ 1 ใน 3 ของผู้ลี้ภัยนั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย ซึ่งผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้น้อยที่สุด เพราะประเทศที่รองรับและดูแลผู้ลี้ภัยเองก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อจัดหาการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในประเทศของตัวเองเช่นกัน รวมถึงการต้องจัดหาโรงเรียน การพัฒนาผู้สอนที่ได้คุณภาพ และการต้องปรับเปลี่ยนอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อรองรับเด็กๆผู้ลี้ภัยหลายแสนคน ที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน และส่วนมากต้องหยุดเรียนมาประมาณ 4 ปี  

“ความคืบหน้าของการแก้ปัญหาการศึกษาของผู้ลี้ภัยนั้น เห็นได้จากการที่เราสามารถช่วยให้เด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียได้เข้าเรียน ซึ่งสิ่งนี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีถึงศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตการณ์การศึกษาของผู้ลี้ภัย” นายกรันดี กล่าวต่อไปว่า “แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในตอนนี้ คืออัตราการได้รับการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยในภูมิภาคที่มีรายได้น้อย ซึ่งสิ่งนี้บ่งบอกได้อย่างชัดเจนว่าเราต้องไม่ลืมที่จะลงทุนเพื่อการศึกษาในประเทศที่รองรับและให้การดูแลผู้ลี้ภัยเหล่านี้ด้วยเหมือนกัน”   

 

ท่านสามารถรับทราบ รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัย” ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ของ UNHCR ได้ที่ http://www.unhcr.org/left-behind

สำหรับข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับ รายงาน “ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง: วิกฤตการณ์การศึกษาผู้ลี้ภัยhttp://www.unhcr.org/left-behind-media

 

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ธนัช จรูญรัตนเมธา (มิ้นท์)

02-288-1389 (jarulrat@unhcr.org)

คอนเสิร์ตการกุศลเพื่อผู้ลี้ภัย โดยคุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา และเพื่อน

 

คอนเสิร์ตการกุศลเพื่อผู้ลี้ภัย โดยคุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา และเพื่อน

เพื่อนถึงเพื่อน Charity Concert for UNHCR Kong Saharat and Friends

 

คอนเสิร์ตการกุศล เพื่อนถึงเพื่อน Charity Concert for UNHCR Kong Saharat and Friends

 

 

คุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา Kong Saharat Fanpage ผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงของ UNHCR และผู้ริเริ่มแคมเปญเพื่อผู้ลี้ภัย Namjai for Refugees ในปีนี้ จัดคอนเสิร์ตการกุศลร่วมกับเพื่อนๆ คุณเจนนิเฟอร์ คิ้ม Jennifer Kim FC วงโปเตโต้ POTATO คุณว่าน ธนกฤต Wan Thanakrit Fanpage และคุณกอล์ฟ เบญจพล เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยจากสงคราม

รายละเอียดการแสดง:
วันที่: วันอังคารที่ 26 ก.ย. 2560
เวลา: 19.00 น. เป็นต้นไป
สถานที่: โรงละครเคแบงก์ สยามพิฆเนศ ชั้น7 ศูนย์การค้าสยามแสควร์วัน
บัตรราคา: 600/800/1,000/1,500/2,000 บาท
จำหน่ายบัตรแล้ววันนี้ที่: 7-11 และ Counter Service ทุกสาขา  หรือ https://goo.gl/Ar4QDn 


ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา ปันน้ำใจเพื่อเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยจากสงครามด้วยกันนะคะ
*รายได้ทั้งหมดมอบให้ UNHCR เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยจากสงคราม

 

ติดตามข่าวสาร สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ FB:UNHCR Thailand

วิกฤติผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา อพยพไปบังกลาเทศกว่า 2 แสนคน

 

วิกฤติผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา อพยพไปบังกลาเทศกว่า 2 แสนคน

สถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา กำลังกลายเป็นวิกฤตผู้อพยพ

 

สถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา กำลังกลายเป็นวิกฤตผู้อพยพ

 

 

สถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา กำลังกลายเป็นวิกฤตผู้อพยพ ล่าสุดสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งประชาชาติ เปิดเผยว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอพยพมายังบังคลาเทศมากกว่า 270,000 คนแล้วในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันมีเสียงเรียกร้องจากประเทศมุสลิมทั่วโลกให้รัฐบาลเมียนมา โดยนางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสันภาพ แสดงท่าทีและยุติความรุนแรงที่กำลังกลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา

 

 

ข่าว3มิติ วิกฤติผู้ลี้ภัยโรฮิงญา (13 กันยายน 2560)

 

ข่าว3มิติ สถานการณ์ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในค่ายผู้ลี้ภัยบังคลาเทศ (14 กันยายน 2560)

ขอขอบคุณข่าวจาก: 

- http://www.krobkruakao.com/local/52066

http://www.krobkruakao.com/rerun/8/107084 

http://www.krobkruakao.com/rerun/8/107196

กลุ่มศิลปินดาราและผู้มีชื่อเสียงได้ร่วมทำกิจกรรมน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัย

 

กลุ่มศิลปินดาราและผู้มีชื่อเสียงได้ร่วมทำกิจกรรมน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัย

ข่าว 3 มิติ: กลุ่มศิลปินดาราและผู้มีชื่อเสียงได้ร่วมทำกิจกรรมน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัย

 

 

ถานการณ์สงครามที่ทำให้จำนวนผู้ถูกบังคับให้ลี้ภัยสูงกว่า 65 ล้านคนทั่วโลก กลายเป็นวิกฤตมากที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และทาง UNHCR ต้องการงบประมาณจำนวนมาก จึงมีการรณรงค์ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ในส่วนประเทศไทยกลุ่มศิลปินดาราและผู้มีชื่อเสียงได้ร่วมทำกิจกรรมน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัยด้วย

นายวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงที่ร่วมทำกิจกรรมโครงการ Namjai for refugees หรือน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัย ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR รณรงค์สร้างความเข้าใจปัญหาสงครามและผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก และมีจำนวนผู้ลี้ภัยมากกว่า 65 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทำให้ UNHCR ต้องการงบประมาณจำนวนมาก นายวรรณสิงห์ เปิดเวทีทอล์คเดี่ยว เป็นครั้งแรกในหัวข้อสงครามและน้ำใจ ถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางไปในพื้นที่สงคราม และความขัดแย้งที่กลายเป็นเหตุให้ต้องมีผู้อพยพ


ขณะที่คุณก้อง สหรัถ สังคปรีชา เตรียมเปิดคอนเสิร์ตเพื่อถึงเพื่อน Charity Concert for UNHCR  ในวันที่ 26 กันยายนนี้ โดยมีเพื่อนศิลปิน วงนูโว, วงโปเตโต้, เจนิเฟอร์ คิ้ม, ว่านธนกฤต และกอล์ฟ เบญจพล มาร่วมด้วย ถือเป็นการร่วมกิจกรรมน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัย เป็นปีที่สองของคุณก้อง ที่อยากให้คนไทยเข้าใจปัญหาผู้ลี้ภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่สามารถแบ่งปันน้ำใจช่วยเหลือได้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งในไทยมีผู้หนีภัยจากการสู้รบจากประเทศเมียนมาอยู่ในค่ายอพยพในไทยมากว่า 30 ปีจำนวนกว่า 1 แสนคน

สำหรับผู้สนใจร่วมแสดงน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัยผ่านคอนเสิร์ตของคุณก้องสหรัถ สามารถซื้อบัตรได้ที่ เซเว่น อีเลฟเว่น รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้ UNHCR ช่วยเหลือเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยจากสงคราม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มศิลปินและผู้มีชื่อเสียงที่มาร่วมกิจกรรมน้ำใจเพื่อผู้ลี้ภัย เชิญชวนให้บริจาคผ่านเอสเอ็มเอส พิมพ์ 30 ส่งไปที่ 4642789 บริจาคครั้งละ 30 บาทใช้ได้ทุกเครือข่าย

 

รายละเอียดงานคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อผู้ลี้ภัย

วันแสดง: วันอังคารที่ 26 ก.ย. 2560

เวลา: 19.00 น. เป็นต้นไป

สถานที่: โรงละครเคแบงก์ สยามพิฆเนศ ชั้น7 ศูนย์การค้าสยามแสควร์วัน

บัตรราคา: 600/800/1,000/1,500/2,000 บาท

ซื้อบัตรได้ที่: https://goo.gl/Ar4QDn

*รายได้ทั้งหมดมอบให้UNHCR เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยจากสงคราม ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเรา ปันน้ำใจเพื่อเด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัยจากสงครามด้วยกันนะคะ

 

ขอขอบคุณข่าวจาก: http://www.krobkruakao.com/local/52067

ภารกิจระดมทุนเพื่อผู้ลี้ภัย โดยอาหนิง นิรุตติ์ ศิริจรรยา

 

ภารกิจระดมทุนเพื่อผู้ลี้ภัย โดยอาหนิง นิรุตติ์ ศิริจรรยา

ผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงของ UNHCR ในแคมเปญ Namjai for Refugees

 

ภารกิจระดมทุนเพื่อผู้ลี้ภัย โดยอาหนิง นิรุตติ์ ศิริจรรยา ผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงของ UNHCR ในแคมเปญ Namjai for Refugees

 

 

 

เพราะผู้ลี้ภัยก็เหมือนกับเรา พวกเขามีอาชีพ มีความรู้และความสามารถด้านต่างๆ ซ่อนอยู่ แต่ด้วยสถานะที่เป็น พวกเขาไม่มีโอกาสได้นำออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อตนเองและเพื่อผู้อื่น และเราเชื่อว่าน้ำใจจากเราทุกคนที่ส่งต่อกัน สามารถมอบโอกาสและชีวิตใหม่เพื่อเพื่อนมนุษย์ได้

อาหนิง นิรุตติ์ จึงนำความสามารถที่ซ่อนอยู่มาทำภารกิจระดมทุนเพื่อช่วยพวกเขา หลายคนอาจไม่เคยทราบว่านอกจากเป็นนักแสดงมากความสามารถ อาหนิง นิรุตติ์ ยังเป็นนักมนุษยธรรม เป็นหนึ่งในคนไทยที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยสมัยสงครามอินโดจีนอีกด้วยค่ะ

สามารถติดตามภารกิจเพื่อผู้ลี้ภัยโดยผู้สนับสนุนที่มีชื่อเสียงของ UNHCR ในแคมเปญ Namjai for Refugees ได้ที่ Facebook: UNHCR Thailand ค่ะ

 

ร่วมบริจาคที่:

1. www.unhcr.or.th

2. SMS พิมพ์ 30 ส่งมาที่ 4642789 (บริจาคครั้งละ 30 บาท)

#NamjaiforRefugees #NirutforUNHCR #UNHCRThailand #เพื่อผู้ลี้ภัย

 

ชาวโรฮิงญาลี้ภัยไปยังประเทศบังคลาเทศ

 

ชาวโรฮิงญาลี้ภัยไปยังประเทศบังคลาเทศ

พวกเขาหมดแรง อ่อนล้า แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาดูโล่งใจที่มาถึงฝั่ง © UNHCR

 

 

 

เรากำลังเดินทางไปยังค่ายผู้ลี้ภัย และระหว่างขับผ่านชายหาดเราเห็นเรือจำนวนมากในทะเลที่อัดแน่นไปด้วยผู้คนที่ต้องลี้ภัยจากความรุนแรง พวกเขาหมดแรง อ่อนล้า แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาดูโล่งใจที่มาถึงฝั่ง บางคนล้มลงบนชายหาดทันทีที่มาถึง

 

ฉันทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยมานานกว่า 15 ปี และนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกสิ้นหวังและหดหู่มากที่สุด มันทำให้ฉันนึกถึงรูปภาพที่เคยเห็นของเรือผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามในปี พ.ศ.2523 แต่นี่เวลาผ่านมานานกว่า 30 ปีแล้ว ฉันไม่อยากเชื่อว่ายังคงมีเรื่องแบบเดิมเกิดขึ้นอีก เรื่องนี้เกิดขึ้นอีกครั้งได้อย่างไร

 

เด็ก ผู้หญิง และครอบครัวชาวโรฮิงญากว่า 164,000 คนถูกบังคับให้ลี้ภัยไปประเทศบังคลาเทศเพื่อหนีความรุนแรงในเมียนมาร์ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา 20,000 คนต้องลี้ภัยต่อวัน ผู้ลี้ภัยมีตั้งแต่เด็กอ่อนที่คลอดกลางทาง เด็กทารก เด็กพลัดพรากจากพ่อแม่ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ พวกเขาบาดเจ็บ เหนื่อยล้า และหิวโหย และต้องการการช่วยชีวิต หลังจากเดินหลายสิบวันจากหมู่บ้านของพวกเขา พวกเขาเดินทางข้ามป่า ข้ามภูเขา และแม่น้ำ และมีเพียงเสื้อผ้าเท่านั้นที่นำติดตัวมาด้วย

 

ผู้ลี้ภัยพบเจอพบเจอเหตุการณ์ที่เลวร้ายและน่ากลัว พวกเขาต้องเอาชีวิตรอดจากหมู่บ้านที่ถูกเผาและการถูกทำร้ายรุนแรง หลายคนเห็นคนในครอบครัวถูกฆ่า   ลี้ภัยอย่างยากลำบากเพื่อความปลอดภัยและการได้รับความคุ้มครองในประเทศบังคลาเทศ ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่เดินทางยาวนานหลายสิบวันกว่าจะถึง พวกเขาหิว เหนื่อย ขาดน้ำ และสับสน บางคนไม่ได้ทานอาหารตั้งแต่ออกจากหมู่บ้านและมีชีวิตรอดจากการดื่มน้ำฝนหรือน้ำจากพื้นดินเท่านั้น

UNHCR อยู่ในพื้นที่และทำงานตลอดเวลาเพื่อให้ความช่วยเหลือพวกเขาในค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง และนายาพารา ประเทศบังคลาเทศ

เพื่อให้ได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วนดังนี้

• เข้าช่วยผู้รอดชีวิตจากการเดินทางอันโหดร้ายทันทีที่พวกเขามาถึง และจัดหาที่พักพิงให้กับผู้รอดชีวิต

• ให้การช่วยเหลือเร่งด่วนแก่ผู้ลี้ภัยที่เพิ่งเดินทางมาถึง และเร่งช่วยกลุ่มที่เปราะบางมากที่สุดเช่นเด็กทารก ผู้ได้รับบาดเจ็บ เด็ก ผู้หญิง คนชรา และให้ความช่วยเหลือที่พวกเขาต้องการรวมถึงการรักษาพยาบาลและการติดตามครอบครัวสำหรับเด็กที่ถูกพลัดพรากจากพ่อแม่

• เปิดพื้นที่โรงเรียนศูนย์ชุมชนและศูนย์การเรียนรู้ในค่ายทั้งสองแห่งเพื่อรองรับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่

• สร้างโครงสร้างที่พักพิงชั่วคราวให้ปลอดภัยและแข็งแรง

• มอบที่พักพิงฉุกเฉินชั่วคราวเพื่อผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษเช่น เด็กเล็ก ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ

• มอบเสื่อนอนให้เด็กและครอบครัวผู้ลี้ภัย เพื่อช่วยให้พวกเขาปลอดภัยจากการต้องนอนบนพื้นดิน

• มอบเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม สิ่งของยังชีพเพื่อความสะอาดและคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ลี้ภัย

2 ปีหลังการเสียชีวิตของเด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อลัน เคอร์ดี้บนชายหาดของประเทศตุรกี

 

2 ปีหลังการเสียชีวิตของเด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อลัน เคอร์ดี้บนชายหาดของประเทศตุรกี

รูปวาดน้องอลัน เคอร์ดี้ โดย Yante Ismail ©UNHCR/Yante Ismail

 

 

2 ปีหลังการเสียชีวิตของเด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย อลัน เคอร์ดี้บนชายหาดของประเทศตุรกี 

 

 

เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้วที่เราได้พบร่างของน้องอลัน เคอร์ดี เด็กผู้ลี้ภัยชาวซีเรียวัย 3 ปี ที่เสียชีวิตที่ชายหาดของประเทศตุรกี UNHCR เรียกร้องให้ประชาคมโลกให้ลงมือปฏิบัติงานร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมไม่ให้เกิดเพิ่มขึ้น

ถึงแม้ว่าจำนวนผู้อพยพมาที่ทวีปยุโรปจะจำนวนลงหลังจากการเสียชีวิตของอลัน แต่ก็ยังมีผู้คนที่ยังพยายามเดินทางเข้ามาและหลายคนต้องเสียชีวิตลงระหว่างทาง ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ปี 2559 มีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพอย่างน้อย 8,500 คน เสียชีวิต หรือสูญหายระหว่างเดินทางข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่อีกจำนวนมากเสียชีวิตขณะเดินทางข้ามทะเลทราย

มีเด็กมากมายที่ต้องเดินทางเพียงลำพังไปยังทวีปยุโรป เนื่องจากพวกเขาเป็นเด็ก การเดินทางนี้จึงน่ากลัวและอันตรายมากขึ้นอีก และนี่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง เพราะใน 7 เดือนแรกของปี 2560 ร้อยละ 92 จากเด็ก 13,700 คน คือเด็กที่เดินทางเพียงลำพังทางทะเลมาถึงอิตาลี

เด็กๆ เหล่านี้และผู้ที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านกลุ่มอื่นๆต้องการทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะว่าถ้าหากเขาต้องอยู่อย่างไม่มีความหวังและหวาดกลัว พวกเขาก็จะต้องหาทางออกที่เสียงกับชีวิตของตนเอง และเลือกการเดินทางที่อันตรายนี้

UNHCR ได้รับการสนับสนุนจากการประชุมและข้อตกลงเกี่ยวกับการอพยพและลี้ภัยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาซึ่งได้มีการกล่าวถึงทางออกของปัญหาดังกล่าว แต่ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำให้สำเร็จเพื่อให้ความคุ้มครองและช่วยชีวิตพวกเขา

เหล่าผู้นำทางการเมืองต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่ปลอดภัยมากขึ้น  ให้ข้อมูลแก่ผู้ที่กำลังคิดเดินทางบนเส้นทางอันตรายที่พวกเขาต้องเผชิญอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาของการย้ายถิ่นฐาน โดยการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นที่ประเทศต้นทาง