Skip to main content

ภาษา

 

จากเต็นท์ที่ใช้แล้วสู่งานศิลปะที่มีชีวิตชีวาโดยผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย

งานศิลปะบนเต็นท์นี้สร้างจากแรงบันดาลใจของ กุสตาฟ คลิมท์ จิตรกรชาวออสเตรเลียที่มีชื่อเสียงและ นิซาร์ คับบานี นักกวีชาวซีเรีย ที่สนามของศูนย์ผู้ลี้ภัย ทางตอนเหนือของประเทศจอร์แดน เอื้อเฟื้อภาพโดย ฮันนาห์ โรส โทมัส

 

กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร 6 เมษายน (UNHCR)- อิบทิฮาจ มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นศิลปินตั้งแต่สมัยเรียนที่โรงเรียนอนุบาลในเมืองฮอมส์ประเทศซีเรีย และหวังว่าซักวันหนึ่งเธอจะมีแกลเลอรีโชว์ผลงานของเธอให้โลกได้เห็น ตอนนี้เธออายุ 12 ปีอาศัยอยู่ในประเทศจอร์แดนเช่นเดียวกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอีกกว่า 3.9 ล้านคนที่ต้องลี้ภัยมาจากบ้านเกิดเพื่อหาที่พักพิงในต่างประเทศจากผลของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือน มีนาคม พ.ศ 2554

อิบทิฮาจได้โชว์ผลงานชิ้นล่าสุดบนผนังห้องนอนของเธอที่เมืองอัมมาน เมืองหลวงของประเทศจอร์แดนให้ผู้เยี่ยมชมจาก UNHCR  ภาพวาดของเธอสื่อถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาของเธอได้อย่างชัดเจน “นี่คือภาพของลูกชายและแม่ของเขากำลังร้องขอพระเจ้าให้ช่วยปกป้องประเทศซีเรีย แล้วนี่คือดวงตาที่กำลังร้องไห้ให้กับประเทศของมัน” อิบทิฮาจกล่าว

หลังจากการเข้าเยี่ยมค่ายของ ฮันนาห์ โรส โทมัส ศิลปินชาวอังกฤษ ที่ประเทศจอร์แดนเมื่อปีที่แล้ว อิบทิฮาจได้เข้าใกล้ความฝันสู่การเป็นศิลปินระดับโลกมากขึ้น โทมัสวัย 23 ปีได้ยินเรื่องราวของผู้ลี้ภัยหลายคนในระหว่างทริปเพื่อการศึกษาและได้เกิดความคิดที่จะนำเต็นท์ของ UNHCR ที่ไม่ใช้แล้วมาระบายสีเพื่อให้ผู้ลี้ภัยได้แสดงออกทางความรู้สึกผ่านศิลปะ ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาดีมากและในขณะนี้ก็ได้ทำการจัดโชว์เต็นท์ในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก

“จุดประสงค์ของงานนี้คือการเปลี่ยนสัญลักษณ์ของการสูญเสียและการพลัดถิ่นมาเป็นงานศิลปะที่สวยงามเพื่อที่จะสร้างการรับรู้เกี่ยวกับชีวิตและเรื่องราวของผู้ลี้ภัย เราใช้ไอเดียจาก การแตกหัก ชิ้นส่วน ชีวิตที่สูญสิ้น และชีวิตที่สูญเสียจากการถูกบังคับให้ลี้ภัยจากบ้านเกิดของตัวเองที่ต้องการเริ่มชีวิตใหม่อีกครั้ง” ฮันนาห์ กล่าวกับ UNHCR ที่ลอนดอน

หนึ่งในเต็นท์ที่ถูกจัดโชว์ด้านล่างของปราสาทเดอรัม ©Courtesy of Hannah Rose Thomas
หนึ่งในเต็นท์ที่ถูกจัดโชว์ด้านล่างของปราสาทเดอรัม ©Courtesy of Hannah Rose Thomas

อิบทิฮาจ และผู้ลี้ภัยกว่า 200 คนทั้งเด็ก และผู้สูงอายุ ผู้หญิง และผู้ชายได้มีส่วนร่วมในการเพ้นท์สีเต็นท์ด้วยกัน 3 เต็นท์โดย 1 เต็นท์ใช้เวลาประมาณ 3 วัน ผู้ลี้ภัยได้สื่อความรู้สึกของพวกเขาผ่านทางศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการทาสี เขียนกลอน หรืองานศิลปะอื่นๆภายใต้แนวคิดที่ให้ไว้กว้างๆเช่น ความหวัง ความทรงจำ และผลกระทบของสงครามต่อครอบครัว

รูปที่เห็นมากที่สุดจากผู้ลี้ภัยคือรูปบ้านซึ่งแสดงถึงการรอคอยอันยาวนานของผู้ลี้ภัยที่หวังจะได้กลับไปบ้านเกิดของพวกเขาที่ประเทศซีเรียอีกครั้งเมื่อการขัดแย้งสิ้นสุดลง “พ่อของผมเป็นชาวนา ผมแทบจะรอไม่ได้ที่จะกลับไปช่วยพ่อทำงานอีกครั้ง จะได้ช่วยเก็บผลไม้จากสวนผลไม้ของเราและก็ทำทุกอย่างเลย” อับดุลลาห์วัย 13 ปีกล่าว

เต็นท์สามหลังได้ถูกจัดโชว์ที่เมืองอัมมาน ประเทศจอร์แดนเมื่อปีที่แล้วเพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงวันผู้ลี้ภัยโลก(20 มิถุนายน) และได้รับความนิยมมากจนได้จัดโชว์เพื่อให้ทั่วโลกได้รับชม หนึ่งในนั้นได้ถูกจัดแสดงที่ประเทศเบลเยี่ยม และอีกสองหลังได้ถูกใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการ “อนาคตที่สดใสกว่าของผู้ลี้ภัย” ที่สหราชอาณาจักรสนับสนุนโดยมูลนิธิอิเกียร่วมกับ UNHCR เพื่อมอบพลังงานทดแทนให้กับผู้ลี้ภัยที่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศจอร์แดน ชาด บังกลาเทศ และเอธิโอเปียเมื่อต้นปีนี้

เต็นท์ทั้ง 3 หลังได้ถูกจัดแสดงในสถานที่ต่างๆบริเวณเมืองประวัติศาสตร์ทางตอนเหนือของเมืองเดอรัม และหนึ่งในเต็นท์ทั้งหมดจะถูกจัดแสดงที่ลอนดอน เซาธ์แบงค์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัปดาห์ผู้ลี้ภัยในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ และเต็นท์ที่เหลือจะถูกโชว์ที่งานเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงวันผู้ลี้ภัยโลกในวันที่ 20 มิถุนายน และเนื่องในโอกาสครอบรอบ 70ปีขององค์การสหประชาชาติที่เมืองเจนีวา

ศิลปะได้ทำให้ผู้ลี้ภัยเข้าใจและแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ผู้ลี้ภัยหลายคนได้ใช้ศิลปะในการระบายความรู้สึกและเยียวยาจิตใจจากประสบการณ์อันเลวร้ายที่กระทบกระเทือนจิตใจของพวกเขาที่ผ่านมาจากการลี้ภัยจากบ้านเกิดของพวกเขา

“ศิลปะคือการปลดปล่อยอย่างหนึ่ง ความเป็นอิสระ และพื้นที่ปลอดภัยถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กที่อาจติดกับอดีตอันเลวร้าย และโครงการศิลปะนี้ถือเป็นโอกาสที่หาได้ยากสำหรับผู้ลี้ภัยที่จะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออก และฟื้นฟูสภาพจิตใจจากเหตุการณ์ที่พวกเขาได้พบเจอ” ฮันนาห์ กล่าว

เรื่องโดยชาร์ลี แยกซ์ลีย์ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร