Skip to main content

ภาษา

 

วัยรุ่นชาวอัฟกานิสถานฝันที่จะกลับไปฟื้นฟูประเทศบ้านเกิด

 

โซนิตาเคยเห็นอัฟกานิสถานจากเพียงแค่ภาพถ่ายจากญาติๆของเธอ ในหนัง หรือวีดีโอทางอินเตอร์เน็ท ตอนนี้เธอเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กๆ และความฝันของเธอคืออยากกลับไปเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูประเทศของเธอที่อัฟกานิสถาน

“ฉันเคยเป็นเด็กขี้อายมากๆ ฉันไม่พูดกับใครเลยที่โรงเรียน เพราะกลัวว่าเพื่อนๆจะรู้ว่าฉันมาจากอัฟกานิสถาน” โซนิตาวัย 25 ปีเล่าถึงความรู้สึกอายเมื่อสมัยเด็กกับชีวิตการเป็นผู้ลี้ภัย แทบไม่น่าเชื่อว่าเด็กน้อยขี้อายคนนั้น ในวันนี้คือนักออกแบบกราฟฟิก และคุณครูอาสาสมัครที่ก้าวเดินด้วยความมั่นใจ พูดจาฉะฉาน และมีสายตาที่มีพลัง โซนิตาฝันอยากจะกลับไปที่อัฟกานิสถานอีกครั้งเพื่อที่จะช่วยให้เด็กๆรุ่นหลังไม่ต้องรู้สึกถูกแบ่งแยกเหมือนเช่นที่เธอเคยรู้สึกเมื่อสมัยวัยเด็ก

โชนิตา วัย 25 ปีคุณครูอาสาสมัครพูดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวอัฟกานิสถานกับเด็กๆที่โรงเรียนในเมืองวารามินทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเตหะราน ©UNHCR/Sebastian Rich
โชนิตา วัย 25 ปีคุณครูอาสาสมัครพูดเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาวอัฟกานิสถานกับเด็กๆที่โรงเรียนในเมืองวารามินทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเตหะราน ©UNHCR/Sebastian Rich

ครอบครัวของโซนิตาลี้ภัยจากอัฟกานิสถานมาที่เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิหร่านก่อนที่จะย้ายไปที่เมืองเรย์เมืองทางตอนใต้ของกรุงเตหะราน เธอจบการศึกษาระดับมัธยมปลายแต่ครอบครัวของเธอไม่สามารถส่งเธอเข้ามหาวิทยาลัยได้ “บ้านเรามีลูกสาว 2 คน ลูกชาย 2 คน และพ่อแม่สามารถส่งพวกเราเรียนมหาวิทยาลัยได้เพียงแค่คนเดียว จึงมีแค่พี่สาวของฉันที่ได้เรียนต่อ”

แต่อุปสรรคด้านการเงินก็ไม่ได้ทำให้โซนิตาหมดหวัง เธอเข้าเรียนที่ NICCO ซึ่งเป็นองค์กรเอ็นจีโอญี่ปุ่นที่ช่วยให้ผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ และเตรียมพร้อมสำหรับการกลับประเทศตนเอง ตอนนี้โซนิตามีอาชีพเป็นนักออกแบบกราฟฟิก เธอจึงสามารถเก็บเงินที่ได้จากค่าจ้างไว้สำหรับเป็นค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัย โซนิตายังออกแบบจดหมายข่าวสำหรับองค์กรเอ็นจีโอที่เธอทำงานอยู่ด้วย “พี่ชายของฉันไม่อยากให้ฉันทำงาน เขาไม่พูดกับฉันหลายวันเลย แต่พ่อกับแม่สนับสนุนฉันในเรื่องนี้” โซนิตาพูดด้วยความภูมิใจ

โซนิตานักเรียนขี้อายคนนึงตอนนี้ได้กลายเป็นสาววัยรุ่นที่ได้ท้าทายมุมมองอันคับแคบ และความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน มีครั้งหนึ่งในชั้นเรียนภาษาอังกฤษขณะที่คุณครูของเธอกำลังพูดถึงการท่องเที่ยวในอัฟกานิสถานและหัวเราะ เธอรีบแก้คุณครูของเธอ และกล่าวว่าอัฟกานิสถานมีที่ให้เที่ยวหลายแห่งไม่ได้มีแต่เฉพาะที่เห็นในทีวีเท่านั้น”

โซนิตาขอให้ญาติ และเพื่อนของเธอที่ไปเที่ยวที่อัฟกานิสถานถ่ายรูป และวีดีโอกลับมาให้เธอบ่อยครั้ง “วันไหนที่เราพูดถึงอัฟกานิสถาน ฉันจะฝันถึงมันในตอนกลางคืน  ฝันถึงตรอกซอกซอยที่เต็มไปด้วยฝุ่นแม้ว่าตอนนี้จะไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว”

แต่ความฝันของโซนิตาใหญ่กว่านั้น “ฉันอยากจะกลับไปที่อัฟกานิสถาน และช่วยเด็กๆที่อยู่ตามท้องถนน  เวลาฉันนึกถึงตัวเองที่อัฟกานิสถานฉันจะนึกถึงเด็กๆที่คอยรายล้อมเต็มไปหมด” หากโซนิตาตัดสินใจกลับไป เธอจะเป็นหนึ่งในชาวอัฟกานิสถานที่ตัดสินใจเดินทางจากอิหร่านเพื่อกลับบ้านโดยสมัครใจ ซึ่งตั้งแต่ปีพ.ศ2551 มีจำนวนกว่า 66,400 คน

สงครามที่เกิดขึ้นหลายครั้ง และเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่อัฟกานิสถานทำให้ประชากรจำนวนประมาณ 2,600,000 คนต้องลี้ภัย และส่วนใหญ่ก็ไปยังประเทศอิหร่าน และปากีสถาน โดยอาศัยอยู่เป็นระยะเวลาหลายสิบปี เช่นเดียวกันกับโซนิตาที่เป็นผู้ลี้ภัยรุ่นที่ 2 หรือ 3 ที่ไม่มีแม้แต่โอกาสได้เห็นอัฟกานิสถานด้วยตนเอง

การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในกรุงคาบูลได้สร้างความหวังและพันธะสัญญาในการสร้างอัฟกานิสถานที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ แต่ด้วยการขยายตัวของวิกฤติต่างๆในพื้นที่อื่นๆทั่วโลกทำให้ประเทศอัฟกานิสถานและประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศได้รับความช่วยเหลือลดน้อยลง โดยปากีสถาน และอิหร่านต้องเผชิญกับความกดดันในการรองรับผู้ลี้ภัยหลายล้านคนมาหลาย 10 ปี อย่างไรก็ตามในปีนี้หน่วยงานรัฐบาลอิหร่านได้เริ่มอนุญาตให้เด็กผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้รับการลงทะเบียนสามารถเข้าเรียนหนังสือได้พร้อมกันกับเด็กผู้ลี้ภัยชาวอัฟกานิสถานที่ได้รับการลงทะเบียนคนอื่นๆที่ได้เข้าเรียนแล้ว

พ่อและแม่ของโซนิตาไม่ได้เห็นด้วยกับเธอนักในเรื่องเดินทางกลับประเทศอัฟกานิสถาน เนื่องจากเป็นห่วงในความปลอดภัยของเธอ แต่โซนิตาตัดสินใจอย่างแน่วแน่แล้ว “ฉันบอกพ่อว่าจะรอจนกว่าจะอายุครบ 35 ปี และถ้าตอนนั้นพ่อไม่กลับ หนูก็จะกลับไปอัฟกานิสถานคนเดียว” เธอ กล่าว

“ฉันรักเด็กๆชาวอัฟกานิสถาน ฉันบอกตัวเองทุกวันว่าฉันต้องพยายามให้มากขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมกับสภาพความเป็นอยุ่ที่อัฟกานิสถาน” โซนิตาทราบดีเกี่ยวกับอุปสรรค และความยากลำบากที่เธอต้องเจอในฐานะผู้หญิงที่ต้องใช้ชีวิตเพียงลำพังที่เมืองเฮรัต แต่เธอเชื่อว่าประเทศอัฟกานิสถานต้องการคนเช่นเธอ

“เราต้องช่วยสร้างประเทศเพื่อเด็กๆ ไม่เช่นนั้นพวกเขาก็จะต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่ขมขื่นเหมือนเช่นที่เราได้เจอมา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรับได้”