ชาวสวนตาบอดชาวกะเหรี่ยงเก็บเกี่ยวศักดิ์ศรีและรายได้พิเศษ
บรรยายภาพ: คา ดู ลาร์ กำลังถอนหญ้าออกจากแปลงเกษตรที่ซึ่งเขาใช้ปลูกผักใกล้พื้นที่พักพิงชั่วคราวแม่หละ
พื้นที่พักพิงฯ แม่หละ, ประเทศไทย, 2 กรกฎาคม (UNHCR) - คา ดู ลาร์ สูญเสียตาทั้งสองข้างและแขนซ้ายจาก สะเก็ดระเบิด แต่เขาไม่ใช่คนที่จะปล่อยให้ความหายนะเหล่านี้มาหยุดยั้งเขาไว้ได้
แม้ว่าชาวสวนชาวกะเหรี่ยงอายุ 52 ปีคนนี้จะเดินทางจากประเทศพม่าเข้ามาอยู่ในพื้นที่พักพิงฯในประเทศไทยกว่า 20 ปี แล้ว เขาก็ยังพยายามที่จะเลี้ยงครอบครัวโดยการฉีกไม้ไผ่สำหรับสร้างบ้าน ซึ่งทำให้เขามีรายได้เพียงแค่ไม่กี่บาท สำหรับไม้ไผ่แต่ละกิโลกรัมเท่านั้น
แต่เพิ่งจะไม่กี่ปีผ่านมานี่เองที่เขาได้พบกับจุดเปลี่ยนที่แท้จริงในชีวิตเมื่อเขาได้เรียนรู้ทักษะการเกษตรผ่านโครงการ หนึ่งสนับสนุนโดย UNHCR และดำเนินการโดยองค์กรดูแลผู้ลี้ภัยของประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ ZOA
“ผมมีความสุขมากที่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์บ้าง”
เขาพูดในขณะที่พักจากการถอนหญ้าออกจากแปลงเกษตรระหว่างที่ ฝนตก “มันไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถของผม และผมก็ทำมันได้”
แม่หละเป็นพื้นที่พักพิงฯ ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทยที่ซึ่งได้เห็นผู้ลี้ภัยหลายต่อหลายคนในพื้นที่ได้เดินทางออกจากพื้นที่เพื่อไปยังสหรัฐอเมริกา แคนาดา หรือออสเตรเลียเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ภายใต้โครงการเพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศ ที่สามสำหรับผู้ที่เชื่อว่าการเดินทางกลับประเทศพม่านั้นไม่มีทางเป็นไปได้ในเร็ววัน
โครงการของ ZOA นั้นถูกออกแบบมาสำหรับผู้ที่ต้องการรอเวลาที่จะกลับไปในประเทศพม่าได้ ฝึกฝนทักษะทางการเกษตรและสามารถนำกลับไปใช้เมื่อเวลานั้นมาถึง โดยมีผู้ลี้ภัยที่มีความพิการร่วมโครงการจำนวน 34 คน
“เรากลัวว่าผู้ลี้ภัยจะลืมทักษะการเกษตรของพวกเขา”
โทเอ โทเอ ผู้จัดการโครงการสร้างรายได้ของ ZOA กล่าว เพราะผู้ลี้ภัยไม่มีโอกาสที่จะทำการเกษตรในพื้นที่พักพิงฯที่มีประชากรหนาแน่น และยังได้รับการแจกจ่ายอาหารอยู่เสมอ นอกจากการเพาะเห็ดและปลูกผักแล้ว ผู้ลี้ภัยที่มีความพิการยังเลี้ยงปลา กบ หมู วัวควาย และ แพะในพื้นที่ซึ่งได้รับการจัดสรรจากกรมป่าไม้ของประเทศไทย
ผู้ลี้ภัยจะทำการเปลี่ยนเวรเพื่อทำงานในส่วนต่าง ๆ โดยเปลี่ยนหน้าที่กันปีละครั้งในการดูแลสวนผัก เล้าหมู บ่อปลา ฯลฯ ผลผลิตที่พวกเขาได้รับจะถูกนำไปขายที่ตลาดในท้องถิ่น สร้างรายได้ให้พวกเขาประมาณ 50 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นรายรับที่เพียงพอสำหรับพื้นห่างไกลเช่นนี้ พวกเขาเลือกที่จะรับเงินทุก ๆ สองอาทิตย์ โดยคิด เป็นรายได้รวมประมาณ 1,200 บาทต่อเดือน
“โครงการนี้มีความสำคัญจริง ๆ เพราะมันสร้างโอกาสให้กับผู้ลี้ภัย 148 ชีวิตในการที่จะทำงานอย่างถูกกฎหมายโดย ที่ไม่ต้องออกไปจากพื้นที่พักพิงฯและเสี่ยงกับการถูกจับ”
จูเซปเป เดอ วินเซนต์ทิส ผู้รับผิดชอบงานของ UNHCR ในประเทศไทยกล่าว“ในขณะที่เราผลักดันอย่างต่อเนื่องให้ผู้ลี้ภัยได้มีสิทธิในการทำงานอย่างถูกกฎหมายและมีส่วนร่วมใน การพัฒนาเศรษฐกิจไทย โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น”
“นอกจากนั้น โครงการนี้ยังสามารถเชิดชูศักดิ์ศรีของผู้ลี้ภัยที่มีความพิการและทำให้พวกเขาได้มีส่วนในการสร้างราย ได้ให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง ในขณะเดียวกันพวกเขายังสามารถเก็บทักษะนี้เอาไว้ใช้ได้ในอนาคต” เดอ วินเซนต์ทิส กล่าวเสริม
คา ดู ลาร์พูดทั้งรอยยิ้มว่าเขาไม่แน่ใจเหมือนกันว่ารายได้พิเศษของเขานี้ไปอยู่ที่ไหนหมด เพราะเขานำเงินทั้งหมดให้ ภรรยาของเขาทันที แต่สิ่งหนึ่งที่เขาแน่ใจก็คือครอบครัวที่มีลูกวัยรุ่นสองคนที่กำลังหิวโหยของเขาจะมีอาหารการกินที่ หลากหลายมากขึ้นกว่าอาหารที่ได้รับการแจกจ่ายภายในพื้นที่พักพิงฯ ที่แม้จะมีประโยชน์ทางโภชนาการแต่ไม่มีความหลากหลายเท่าไรนัก
“ผมมีความสุขที่ผมได้ทำงานที่นี่เพราะเราได้กินดีขึ้น”
เขากล่าวอย่างภูมิใจ “ไม่ว่าผมอยากจะกินอะไร ตอนนี้ผมซื้อ หามากินได้แล้ว ผมหวังว่าโครงการนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ”
แปลโดย คุณวรรณจันทร์ ไชยมนตรี