เสวนา UNHCR หัวข้อ “การทำงานเพื่อมนุษยธรรม กับหลักพุทธศาสนา”
UNHCR พร้อมด้วย ท่าน ว.วชิรเมธี และเหล่าคนดังร่วมถ่ายทอดความคิด เปิดมุมมองการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ผ่านหลักพุทธศาสนา
UNHCR ประเทศไทย เผยแพร่แนวคิด “การทำงานเพื่อมนุษยธรรม กับหลักพุทธศาสนา” ท่ามกลางวิกฤตการณ์โลกปัจจุบัน ชูหลักมนุษยธรรมมีในทุกศาสนา พร้อมด้วย พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี) ปู-ไปรยา และ วู๊ดดี้ มิลินทจินดา
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ประเทศไทย จัดงานเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “การทำงานเพื่อมนุษยธรรม กับหลักพุทธศาสนา” เผยแพร่แนวคิดแห่งการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ท่ามกลางวิกฤตการณ์รุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงวิกฤติการณ์ผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
งานเสวนาในครั้งนี้ต่อยอดแนวความคิดมาจากการประชุมว่าด้วย “ความท้าทายในการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศ (High Commissioner's Dialogue on Protection Challenges) ครั้งที่ 5 หัวข้อ “ศาสนาและการคุ้มครอง (Faith and Protection)” จัดขึ้น ณ Palais des Nations กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 โดยมีตัวแทนจากประเทศในกลุ่มสมาชิกสหประชาชาติ ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ ผู้นำศาสนาจากทุกศาสนา ผู้นำทางความคิดและจิตวิญญาณ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนานิยมและลัทธิความเชื่อจากสถาบันต่างๆ กว่า 400 คน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทาง และหลักปฏิบัติภายใต้หลักความเชื่อและศาสนาต่อการทำงานด้านมนุษยธรรมและการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศ
รูเวนดรินี เมนิคดิเวลา ผู้แทนข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ผลจากการประชุม UNHCR พบว่าหลักการทำงานเพื่อมนุษยธรรมซึ่งเป็นหัวใจหลักของ UNHCR นั้นมีความสอดคล้องและเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง กับหลักคำสอนของเกือบทุกศาสนา โดยสามารถกล่าวได้ว่าหลักความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ รวมถึงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่กำลังได้รับความยากลำบากนั้น เป็นพื้นฐานของหลักคำสอนในทุกศาสนา รวมถึงศาสนาพุทธ โดยเราปรารถนาให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักถึงแก่นแท้ในคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนมีมุมมองในการช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนพระธรรมคำสอน เช่นเดียวกันกับการปฏิบัติธรรม หรือการเข้าร่วมงานศาสนพิธีต่างๆ นอกจากนี้ หลักการทำงานเพื่อมนุษยธรรม และหลักศาสนายังมีความสอดคล้องยิ่งขึ้น ในการให้ช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งมีจำนวนสูงมากเป็นประวัติการณ์ ณ ปัจจุบัน รวมถึง ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สร้างความสูญเสียอย่างหนัก ในหลายประเทศ เช่นแผ่นดินไหวใหญ่ในเอกวาดอร์และญี่ปุ่น”
ด้าน พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วัชรเมธี) ในฐานะพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนา รวมถึงเป็นผู้นำความคิดและจิตวิญญาณของพุทธศาสนิกชนจำนวนมากในประเทศไทย ได้ให้มุมมองด้านมนุษยธรรม อันสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธองค์ว่า “เราชาวพุทธมีแนวคิดในการช่วยเหลือผู้อื่น สอดแทรกอยู่ในพระธรรมอันเป็นคำสอนขององค์พระศาสดา ทั้งใน หลักการให้ทาน กรณียเมตตสูตร และพรหมวิหารธรรม 4 ประการ ซึ่งประกอบด้วยเมตตา เห็นอกเห็นใจต่อสรรพชีวิตที่ตกทุกข์ด้วยจิตใจไร้พรมแดน กรุณา ช่วยเหลือสรรพชีวิตด้วยจิตใจไร้พรมแดน มุทิตา พลอยยินดีในความก้าวหน้าของผู้อื่นด้วยจิตใจไร้พรมแดน อุเบกขา วางใจให้เป็นกลาง ปราศจากอคติต่อสรรพชีวิตด้วยจิตใจไร้พรมแดน โดยสี่ข้อนี้เป็นธรรมะเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ก้าวข้ามกำแพงแห่งเชื้อชาติ ชนชั้น หรือศาสนา ซึ่งอาจจะจะเรียกว่าเป็น หลักธรรมแห่งสันติ ก็ว่าได้
นอกเหนือไปจากการเผยแพร่แนวคิดของมนุษยธรรม กับหลักศาสนาแล้วนั้น UNHCR ประเทศไทย ยังได้เชิญนางเอกสาวชื่อดัง ปู ไปรยา สวนดอกไม้ลุนด์เบิร์ก ผู้อุทิศตนในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอย่าง
จริงจังมานานกว่า 2 ปีร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ตรง โดยกล่าวว่า”ปูเป็นชาวพุทธคนหนึ่งที่เข้าวัดทำบุญถวายสังฆทาน หรือทำบุญบริจาค เหมือนกับคนอื่นๆ แต่เมื่อปูได้ศึกษาหลักธรรมจริงๆ ก็เริ่มตระหนักได้ว่าจริงๆ แล้ว บุญอยู่ที่ใจอันเป็นกุศลและลงมือปฏิบัติมากกว่า อย่าที่ปูได้เข้าไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย ปูได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยหลายคนที่ผ่านความทุกข์ที่สุดจากการสูญเสียคนในครอบครัวที่ตนเองรักมากที่สุด เราอาจไม่อยู่ในจุดที่สามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ให้เขาได้ แค่เราได้รับฟัง จับมือเขา พูดให้กำลังใจ เพื่อให้เขามีความหวังและแรงใจที่จะสู้กับปัญหา ก็เหมือนเราได้จุดประกายความสุขเล็กๆ ในจิตใจของเขา และแน่นอนว่าจิตใจของเราก็เต็มไปด้วยความสุขไม่แพ้กัน”
อีกหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในครั้งนี้คือ วู๊ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดาพิธีกรชื่อดัง ผู้ที่เพิ่งได้ผ่านประสบการณ์ใต้ร่มกาเสาวพัสตร์มาเมื่อเร็วๆนี้ยังกล่าวเสริมอีกว่า “จากการที่ผมได้บวชเรียนในบวรพระพุทธศาสนา และได้ศึกษาพระธรรมอันเป็นหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น โดยส่วนตัวคิดว่าพระธรรมอันเกี่ยวข้องกับหลักความเมตตา และความกรุณานั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์ในปัจจุบันยังขาดอยู่มาก ทุกวันนี้เรามองปัญหาในโลก ทั้งวิกฤตต่างๆโดยเฉพาะวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องไกลตัว และอาจจะถึงขั้นชินชากับข่าวความรุนแรงที่อยู่บนหน้าสื่อทั้งหลาย หากแต่แท้จริงแล้วพระพุทธองค์ไม่เคยสอนให้เรานิ่งเฉยต่อความรุนแรง หรือความอยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน พรหมวิหารธรรมที่ย้ำถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นนั้นต่างหาก คือสิ่งที่พระศาสดาพร่ำสอนให้เรายึดถือ เพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”
สงคราม และความขัดแย้งบังคับให้ผู้คนกว่า 60 ล้านคนทั่วโลกหนีออกจากประเทศตนเอง มีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก และต้องการความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย UNHCR หวังว่าการเสวนาในวันนี้จะเป็นการจุดประกายให้เข้าใจถึงหลักการทางศาสนาของทุกศาสนาที่สัมพันธ์กับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดด้านพรมแดน เชื้อชาติและศาสนาต่อไปในอนาคต
ภาพถ่ายงานเสวนา คลิกที่นี่